Loading...

มธ.-รพ.ธรรมศาสตร์ฯ-สปสช. ผนึกกำลังเปิดโครงการผ่าตัด “ข้อเข่า-สะโพกเทียม” ปี 2566 ให้บริการผู้ยากไร้ฟรี

เดินหน้าโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก ปี 2566 เตรียมให้บริการผู้ยากไร้อีก 100-200 ข้อ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดรับสมัครเดือน พ.ย.นี้

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดกิจกรรม “การเฉลิมฉลองความสำเร็จการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ครบ 200 ข้อ ประจำปี 2565” เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 ภายหลังทั้งสามหน่วยงานร่วมกันให้บริการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมแก่ประชาชนผู้ยากไร้ฟรี-ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าโครงการปี 2566 อีก 100-200 ข้อ

     รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้สูงอายุ และก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่าและข้อสะโพกซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก โดยหนึ่งในวิธีการรักษาโรคข้อเสื่อมคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สปสช. ในการดำเนินโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียม รวมทั้งสิ้น 283 ราย นับเป็นจำนวนข้อประมาณ 400 ข้อ

     รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ประธานคณะกรรมการโครงการจิตอาสา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมยังเป็นที่ต้องการอยู่มาก ซึ่งปีที่ผ่านมา มีผู้ยากไร้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท/ครอบครัว เข้าร่วมโครงการครบจำนวนภายใน 1 เดือน ขณะที่ในปี 2566 จะเปิดให้บริการอีก 100-200 ข้อ โดยเปิดรับสมัครประมาณเดือน พ.ย. 2565

     “โครงการนี้นับได้ว่าเป็นปีที่ 3 ที่ได้ดำเนินการ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในปี 2563 และปีต่อมาของโครงการ ทำการผ่าตัดได้ปีละ 100 ข้อ และปี 2565 ได้อีก 200 ข้อ รวมทั้งสิ้นได้ให้บริการประชาชนไปแล้ว 400 ข้อ ตรงนี้สะท้อนถึงปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน และศักยภาพของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในการให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก” รศ.นพ.ณัฐพล กล่าว

     ทางด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แม้ สปสช. จะมีสิทธิประโยชน์การให้บริการด้านการผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมากกว่าที่ระบบจะรองรับได้ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่มากพอต่อความต้องการ ฉะนั้น สปสช. พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนด้านระบบส่งต่อและงบประมาณแก่โครงการ เพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น

     “ความสำเร็จของโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกจึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของแพทย์และเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่มาให้บริการผู้ป่วยนอกเวลาราชการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับประชาชน มีเพียงค่าบริการที่ทาง สปสช. เป็นกลไกในการสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการช่วยหนุนเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

     นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยข้อเสื่อมที่ไม่สามารถหาสถานพยาบาลในการผ่าตัดได้รวมถึงผู้ยากไร้ โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ ๆ โรงพยาบาลอย่างเดียวเท่านั้น จะมาจากที่ใดก็ได้ ทาง รพ.ธรรมศาสตร์ฯ พร้อมให้บริการ และ สปสช. ก็พร้อมสนับสนุนงบประมาณ

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทั้งทาง สปสช. และทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินโครงการและประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ โดยโครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเมตตาของทุกฝ่ายที่มาร่วมกันคิดว่าเราจะทำอะไรกันได้อีกที่จะทำให้ประชาชนคนไทยของเรานั้นมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สมกับการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และเราจะทำสิ่งที่ดี ๆ ต่อจากนี้ร่วมกันต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งมวล