Loading...

‘Hody Cheese’ เชดด้าชีส Plant Base จากเมล็ดกัญชง นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

นักศึกษาธรรมศาสตร์ นำเมล็ดกัญชงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “ชีสวีแกน” เป็นนวัตกรรมอาหารทางเลือกใหม่สําหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต คว้ารางวัลเวที Food Innopolis Contest 2021

วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ.2565

     ‘กัญชง’ กำลังกลายเป็นพืชสมุนไพรที่มาแรง สามารถนำมาสร้างมูลค่า พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลาย

     เหมือนอย่าง Hody Cheese’ เชดด้าชีส plant base จากเมล็ดกัญชง ผลงานจากทีม 3HC ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันโครงการ Food Innopolis Contest 2021 ในรุ่น Light Weight ในหัวข้อ Future Lifestyle Food Innovation ก็เป็นการนำเมล็ดกัญชงมาพัฒนา ต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์ “ชีสวีแกน” เป็นนวัตกรรมอาหารทางเลือกใหม่สําหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต

     สำหรับทีม 3HC เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจาก วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย นายมาฆวีร์ สุขวัฒโน, นายรักษ์ ภัทรภักดี, น.ส.ณิชารีย์ โลหะกิจจา, น.ส.นิชกาญจน์ บุญสิน, นายจักรพงศ์ เทพชนะ และนายภูริภัทร์ ศิวะวรเวท และมี อ.ดร.สุพัตรา สุภาวงค์ เป็นที่ปรึกษา

     นายมาฆวีร์ สุขวัฒโน หนึ่งในทีม 3HC กล่าวว่า กัญชงสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยผ้า คอมโพสิตที่ทำเป็นพลาสติก ทำเป็นปูน เป็นอิฐมวลเบา หรือทำเป็นอาหารได้ เมล็ดกัญชงจะมีโปรตีนที่สูง มีคุณค่าทางอาหารที่น่าสนใจมาก ส่วนช่อดอกถ้านำมาใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และใช้ในปริมาณตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด

     ส่วนตัวมีความสนใจเรื่องกัญชง จึงทำโปรเจกต์เกี่ยวกับกัญชง ทั้งโปรเจกต์พัฒนากัญชงกับคนม้ง ซื้อขายเส้นใยกัญชงกับคนม้ง มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ได้ทำการค้าขายเส้นใยกัญชงกับญี่ปุ่น และเห็นว่ากัญชงสามารถนำทำเป็นอาหารได้ เลยไปคุยกับอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้เกิดเป็นโครงการพัฒนาเชดด้าชีส plant base จากเมล็ดกัญชงขึ้นมา 

     ‘Hody Cheese’ เชดด้าชีส plant base จากเมล็ดกัญชง แตกต่างจากวีแกนชีสทั่วไปตรงที่มีกลิ่นและรสสัมผัสเหนียวนุ่ม เหมือนชีสที่ทำจากนม ถ้านำไปอบก็สามารถยืดได้เหมือนชีสจริง และยังมีโปรตีนสูง เนื่องจากเมล็ดกัญชงมีโปรตีนมากกว่า 30% ในน้ำหนัก 100 กรัม มีโอเมก้า 3, 6, 9 อยู่ในตัว ช่วยเรื่องสมอง เส้นประสาท แล้วยังมีแอนติออกซิแดนท์ (Antioxidant) ช่วยเรื่องผิวพรรณ ชะลอความเสื่อมของผิว

     น.ส.ณิชารีย์ โลหะกิจจา อธิบายเพิ่มว่า เนื่องจากกัญชงเป็นพืชค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ตอนแรกก็จะมีปัญหาเรื่องกฎหมายนิดหน่อย ข้อมูลที่มีไม่มากพอ ตอนที่ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงต้องทำการศึกษา ในขั้นตอนการขึ้นรูปเป็นชีส อุณหภูมิในการดึงโปรตีนออกมา ต้องทดลองไปเรื่อย ๆ ถ้าอุณหภูมิมากไป โปรตีนจะตกตะกอนลงมาเป็นก้อนขุ่น ๆ ต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาพัฒนาตลอดระยะการแข่งขันประมาณ 1 ปี

     ตอนแรกมองผลิตภัณฑ์ไว้หลายอย่าง แต่อาจารย์ได้ช่วยให้คำปรึกษา สุดท้ายออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชีสกัญชง เจาะกลุ่ม ฟิวเจอร์ฟู้ด (Future Food) มังสวิรัติ (Vegan) และแพลนต์เบส (Plant-Based) ซึ่งปัจจุบันชีสวีแกนในตลาดยังไม่มีที่ทำมาจากกัญชง  

     อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของการนำกัญชงมาทำเป็นชีส คือเรื่องของกลิ่นที่ค่อนข้างแรง ปกติชีวีแกนที่มีอยู่ในท้องตลาดจะใช้ถั่วเหลือง อัลมอนด์ พิตาชิโอ หรือเม็ดมะม่วง ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติอยู่แล้ว

     ทว่าแม้จะมีปัญหาเรื่องกลิ่นแต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ Hody Cheese’ ได้มีการพัฒนาปรับกลิ่น และรสชาติ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ นอกจากจะมีหน้าตาคล้ายชีสที่ทำจากนมแล้ว ยังเป็นชีสที่รับประทานแล้วไม่รู้สึกถึงความเป็นกัญชง

     นายมาฆวีร์ เล่าเสริมว่า กัญชงมีความน่าสนใจ และตลาดก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน Hody Cheese’ กำลังคุยกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อหาพาร์เนอร์ผลิตสินค้าออกจำหน่ายจริง โดยมีกลุ่มเป้าหมายร้านอาหารมังสวิรัติ อาหารคลีน ราคาที่วางไว้ประมาณ 240 บาท /10ชิ้น น้ำหนักชิ้นละประมาณ 10-15 กรัม เทียบกับราคาตลาดจะถูกกว่าชีสที่นำเข้า

     “การประกวดเหมือนการได้มาลองทำจริงก็จะได้เห็นภาพ การทำธุรกิจจริง ๆ มากกว่าแค่ศึกษาในห้องเรียน การประกวดเป็นโอกาสที่ได้ลองทำงานก่อน อาจมีถูกผิดบ้างก็ไม่มีปัญหา ได้ล้มก่อนได้ลุกขึ้นมาก่อน เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กทุกคน ถ้าล้มก่อนแล้วลุกก่อนก็มีโอกาสมากกว่า จะได้เห็นว่าเราควรปรับปรุงตัวยังไงในการทำงานในโลกความเป็นจริง ขอบคุณอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ให้โอกาสนักศึกษาจากต่างคณะได้มาทำโปรเจคร่วมกัน และต้องขอบคุณอาจารย์ที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ที่ช่วยให้เห็นภาพว่าถ้ามีปัญหาอะไรสามารถเอาธุรกิจมาเติมเต็มได้” นายมาฆวีร์ ระบุ