Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ สคช. ดันมาตรฐาน ‘อาชีพนักแสดงโขน’ ขึ้นเทียบระดับ ‘นานาชาติ’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2567

     สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) จัดประชุม “การรับฟังความคิดเห็นเพื่อเชิญชวนเข้าร่วมการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ และสร้างความเข้าใจในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และระบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

     การประชุมฯ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพฯ อาชีพนักแสดงโขน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพมีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากล มีความเหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและระดับสากล  โดยมี ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวเล่าความเป็นมาของการประชุมฯ ต่อด้วยการบรรยายเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และวัตถุประสงค์โครงการฯ โดย คุณชนพล อินเที่ยง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สำนักมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)

     คณะที่ปรึกษาได้นำเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพเป้าหมาย เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพโขนในครั้งนี้ โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับรายละเอียดการแสดง และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอาชีพด้านการแสดงในกรณีของต่างประเทศ คือ บัลเลต์ของสหราชอาณาจักร งิ้วของประเทศจีน ละครโนของประเทศญี่ปุ่น และ Dance Art ของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อชี้ให้เห็นถึงสถานภาพของอาชีพด้านการแสดงจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และศึกษาการปฏิบัติที่ดีสู่การเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพแก่อาชีพโขนต่อไป

     โดยการรับฟังความคิดเห็นจากคณะรับรองมาตรฐานอาชีพ อันประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านโขน ทั้งศิลปินแห่งชาติ ราชบัณฑิต ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักแสดงโขนอาวุโส ทั้งสาขาพระ สาขานาง สาขายักษ์ และสาขาลิง จำนวนทั้งสิ้น 8 ท่าน คือ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์,

     ดร.(กิตติมศักดิ์) ชวลิต สุนทรานนท์, ดร.(กิตติมศักดิ์) รัจนา พวงประยงค์, รศ.ฉันทนา เอี่ยมสกุล, อ.สมศักดิ์     ทัดติ, อ.ไชยอนันต์ สันติพงษ์, ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก, ดร.สมชาย ฟ้อนรำดี พร้อมด้วยตัวแทนจากทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งให้ความคิดเห็นว่า “ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญแก่วงการการแสดงโขนของประเทศไทย ให้มีการพัฒนา และสร้างความตื่นตัวแก่ผู้แสดงโขน ให้มีความกระตือรือร้น และพัฒนาตนเอง ตลอดจนยังเป็นการเปิดกว้างแก่ผู้ที่สนใจในวิชาชีพโขน ได้มีโอกาสมาพัฒนาทักษะ และมีแนวทางให้การรับรองมาตรฐาน อันเป็นก้าวสำคัญเพื่อสร้างให้อาชีพโขนไทยมีระบบการรับรองมาตรฐานเทียบเท่าการแสดงอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ”

     ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนกว่า 60 คน ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมฯ ล้วนมีความเห็นสนับสนุนต่อการดำเนินการในครั้งนี้ และมีความยินดีที่จะร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อการสนับสนุนการจัดทำวิชาชีพในครั้งนี้ในโอกาสต่อไป

     “โขน” เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 และเมื่อ พ.ศ. 2561 “การแสดงโขนในประเทศไทย หรือ Khon, masked dance drama in Thailand” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่งการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพฯ อาชีพนักแสดงโขนในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเพื่อสนับสนุนโขนไทย และนักแสดงโขนให้มีมาตรฐานทางอาชีพก้าวสู่สากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ