Loading...

เคลียร์ความสับสน ตกลงกัญชาเสรีขนาดไหน!?

ขายก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชาได้ไหม? หรือปลูกในครัวเรือนได้ขนาดไหน? มาไขข้อสงสัยเรื่องกฎหมายกัญชาเสรี กับอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2565

     ประเทศไทยปลดล็อก ‘กัญชาเสรี’ มุ่งผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ไทย ซึ่งกัญชานับว่าเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ แต่ในการปลดล็อกครั้งนี้ยังคงอยู่ท่ามกลางความสับสนและสงสัยของประชาชนถึงขอบเขตการนำกัญชาไปใช้ เกิดคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ เช่น พ่อค้าแม่ค้าสามารถนำกัญชาไปแปรรูปปรุงอาหารขายได้หรือไม่ ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาในครัวเรือนได้อิสระเลยจริงไหม แล้วมีกฎหมายเข้ามาควบคุมกัญชาออกจากเยาวชนแล้วหรือยัง

     วันนี้ (26 ก.ค. 2565) รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาไขข้อสงสัยของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาว่าตกลงแล้วมีข้อกำหนดและขอบเขตในการใช้พืชกัญชาอย่างไร แล้วต้นตอของความสับสนนี้มาจากอะไร

     รศ.ดร.นิรมัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีการบังคับใช้กฎหมายด้วยการปลดล็อกตัวกัญชาออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติด จึงทำให้มีผลกระทบต่อประชาชนในหลายเรื่อง แต่ในการปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ห้าของ พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ยังคงให้สารสกัดที่มีค่า THC ที่มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นสารเสพติดอยู่   

     ปัจจุบันเนื่องจากมีการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ทำให้พืชกัญชาอยู่ในสถานะที่เป็นสมุนไพรแบบควบคุม การเป็นสมุนไพรควบคุมจึงส่งผลต่อการแยกประเภทกลุ่มบุคคลที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายออกจากกัน

     กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ประกอบการ รศ.ดร.นิรมัย อธิบายว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการนำเอากัญชามาใช้เพื่อการค้าไม่ได้เป็นการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะอยู่ภายใต้กฎหมายอีกฉบับหนึ่งชื่อว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตราที่เกี่ยวข้องคือมาตรา 46 ในมาตรานี้จะเป็นการควบคุมสำหรับการดำเนินการใด ๆ ของกัญชาในฐานะที่เป็นพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัย การส่งออก การจัดจำหน่าย หรือการแปรรูปที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าล้วนถูกควบคุมทั้งสิ้น ซึ่งการควบคุมในทีนี้หมายความว่าการนำพืชกัญชามาใช้ในการค้า จะต้องมีการขออนุญาตจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

     “เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ ปัจจุบันที่เห็นว่ามีการนำไปวางขายรูปแบบต่าง ๆ เช่น การใส่เป็นขนมคุกกี้ หรือใส่ในก๋วยเตี๋ยวในลักษณะที่เป็นการแปรรูปและมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า จริง ๆ แล้วไม่สามารถทำได้หากไม่ได้ขออนุญาต เพราะถูกควบคุมตาม พ.ร.บ. ข้างต้น” รศ.ดร.นิรมัย กล่าว   

     สำหรับประชาชนโดยทั่วไป รศ.ดร.นิรมัย อธิบายว่า กฎหมายพยายามที่จะให้เสรีมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการระบุจำนวนว่าสามารถปลูกได้เท่าไหร่ สามารถที่จะสูบได้ แต่จะต้องสูบในพื้นที่ส่วนตัว ที่กลิ่น ควัน ไม่ไปรบกวนบุคคลอื่น กล่าวคือไม่ให้สูบในที่สาธารณะ สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นยาเพื่อการรักษาต่าง ๆ สำหรับตัวเองได้ หรือว่านำไปปรุงอาหารกินในครัวเรือนก็ได้แต่ต้องมีความระมัดระวัง ส่วนในเรื่องของการนำเข้าหรือส่งออก ทั้งสารสกัดหรือว่าตัวพืชสมุนไพรที่เป็นเรื่องของกัญชานั้นไม่สามารถทำได้ เพราะมีกฎหมายในการควบคุม

     สำหรับข้อกฎหมายกัญชาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน รศ.ดร.นิรมัย กล่าวว่า จากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ในประกาศฉบับนี้มีการระบุข้อความ “...ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ครอบครอง จำหน่าย เคลื่อนย้ายพืชกัญชา...” หมายความว่าให้เฉพาะคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปสามารถใช้กัญชาได้ และบุคคลที่ได้รับอนุญาตไม่สามารถนำกัญชาให้กับเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีได้ เพราะฉะนั้นกรณีของเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขคือห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับพืชชนิดนี้

     จากประเด็นที่เกิดความสับสนในสังคมเรื่องของการนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ รศ.ดร.นิรมัย แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเพราะพืชกัญชาถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดก่อนโดยที่ไม่ได้มีการรวบรวมตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อกำหนดต่าง ๆ ในการใช้พืชกัญชาให้อยู่ในฉบับเดียวกัน แต่มีลักษณะของการออกประกาศของหน่วยงานต่าง ๆ ตามมาภายหลัง  เพราะฉะนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้พืชกัญชาจึงอยู่ในหลายฉบับทั้งในระดับที่เป็นพระราชบัญญัติและในระดับที่เป็นกฎหมายลำดับรองจำนวนมาก อีกทั้งเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้มาทีเดียว จึงทำให้เกิดความสับสนกับประชาชนในการใช้พืชกัญชาว่าอะไรที่ทำได้หรืออะไรที่ทำไม่ได้

     “คำตอบในท้ายที่สุดของเรื่องนี้ คือควรมีการร่างและมีการประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบออกมาในระดับพระราชบัญญัติ ที่รวบรวมหลายเรื่องของการใช้กัญชาเข้ามาอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวอย่างครอบคลุม มีการประกาศเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน และเมื่อมีตัวกฎหมายแล้ว ควรจัดทำคู่มือหรือประชาสัมพันธ์ว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ในการใช้พืชกัญชาด้วยสื่อที่เข้าใจได้ง่ายผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือช่องทางอื่น ๆ ที่หลากหลาย ที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาได้ด้วยตนเอง” รศ.ดร.นิรมัย กล่าว