Loading...

ไอเดียเด็ก BE มธ. ‘ลดขยะยางรถยนต์เก่า’ ผ่านกระบวนการแปรรูป มุ่งสู่ความยั่งยืนในทศวรรษหน้า

นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ Tri Petch Group Awakens Your Challenge 2023

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

     ทีม Uzusi Consulting นักศึกษาโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ (BE) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ นพชัย โชติปรีชารัตน์, นภัสรพี อุตมะโภคิน, ฐิติรัตน์ วิวัฒนเดชา, ณรัก สถิตชัยเจริญ และ ภริตา บำเพ็ญเพียร ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการเเข่งขัน Tri Petch Group Awakens Your Challenge 2023 ในหัวข้อ “โครงการนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอนในทศวรรษหน้า” (Innovation Project towards Sustainability / Carbon Neutrality in the Next Decade) จัดโดย กลุ่มตรีเพชร โดย บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาท เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567

     ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันฯ และมาพูดคุยกับนักศึกษาทีม Uzusi Consulting ฟังไอเดียเพื่อช่วยโลกอย่างยั่งยืนกันค่ะ

การแข่งขันนี้เกี่ยวกับอะไร

     ฐิติรัตน์ : Tri Petch Group Awakens Your Challenge 2023 เป็นการแข่งขันเพื่อคิดค้นไอเดียหรือสร้างสรรค์โครงการที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals: SDGs) หรือเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวสามารถทำได้จริงและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมและองค์กร

ไอเดียลดปัญหาขยะจากยางรถยนต์

     ฐิติรัตน์ : กลุ่มของเราได้เล็งเห็นถึงปัญหาขยะยางรถยนต์ที่สร้างปัญหาให้กับโลกของเรามาตลอด เพราะเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และยังมีจำนวนมากของจำนวนของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นโครงการของเราจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะลดจำนวณขยะ และมลภาวะที่เกิดจากขยะยางรถยนต์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ

     นพชัย : สำหรับกลยุทธ์ของเราจะเริ่มต้นโดยการนำยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นยางบดแล้วนำไปผลิตเป็นแผ่นยางปูพื้นและรองท้ายกระบะของรถยนต์ และนำวางขาย จากนั้นนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายว่าจ้างช่างฝีมือจากชุมชนให้นำยางรถยนต์เสื่อมสภาพแปรรูปกลายเป็นรองเท้าแตะ จากนั้นแจกจ่ายให้กับชุมชนหรือกลุ่มที่ขาดแคลนรองเท้า อีกทั้งยังนำยางเศษเหลือจากการผลิตรองเท้าแตะกลับไปบดเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตแผ่นยางรองพื้นต่อไปครับ

มุมมองของ ‘นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน’

     ฐิติรัตน์ : คือการพัฒนาที่นำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และควรสร้างผลประโยชน์ให้กับทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องค่ะ

     ณรัก : คือการที่เราสร้างสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถนำกลับมาใช่ใหม่ได้เรื่อย ๆ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่ะ

     ภริตา : คือการที่เราพยายามสร้างหรือปรับผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ โดยการคำนึงถึงธรรมชาติและสังคม ให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ที่ดี

     นพชัย : ความยั่งยืนอาจสื่อความหมายได้หลากหลายตามบริบท ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม องค์กร หรือเศรษฐกิจ แต่สำหรับผมแล้วนวัตกรรมที่ยั่งยืนคือนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน เกื้อกูลกัน เพื่อช่วยกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสู่รุ่นต่อไป

     นภัสรพี : นวัตกรรมต่าง ๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริงและสามารถทำต่อไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ส่งผลเสียต่อสังคมครับ

ECON BE มีหลักสูตรเกี่ยวกับ SDGs ด้วย

     ณรัก : หลายวิชาที่เรียนใน BE มีการสอนเกี่ยวกับ SDGs ทำให้เข้าใจถึงหัวข้อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น กลุ่มเราจึงสามารถนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับโปรเจกต์ที่เราคิดและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคว้ารางวัลที่หนึ่งของโครงการนี้มาได้ค่ะ

     นภัสรพี : เราได้นำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้เรียนมาตอบคำถามของกรรมการและได้นำความรู้เกี่ยวกับ Finance มาทำงบการเงินของโครงการครับ

ประสบการณ์ที่หลากหลายสร้างจากนอกห้องเรียน

     ภริตา : ทำให้เรามีมุมมองใหม่ ๆ ในการช่วยโลก การจะสร้างนวัตกรรมใหม่สู่ความยั่งยืนไม่ได้มีแค่การปลูกต้นไม้ แต่เราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์ให้ได้ทั้งสังคมและโลกค่ะ

     นพชัย : ได้เสริมสร้างความรับผิดชอบและฝึกเรื่องการแบ่งเวลา อีกทั้งยังทำให้เราได้พิจาณาความสามารถและขีดจำกัดของตนเองและทีมส่งเสริมให้เกิดการคิดนอกกรอบและไอเดียใหม่ ๆ ครับ

     ณรัก : ได้ฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการความคิด เนื่องจากเราต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะลงมือทำและนำเสนอ ถือว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีมากเลยค่ะ

     ฐิติรัตน์ : เราได้มีโอกาสลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้พัฒนาทักษะการพูดจากการนำเสนอผลงาน ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย เลยทำให้พวกเรายิ่งต้องมีความรับผิดชอบ และทำงานด้วยกันเป็นทีมค่ะ

     นภัสรพี : ผมได้สร้างเสริมประสบการณ์ในการนำเสนองานต่อคณะกรรมการ และทักษะในการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมครับ

ฝากทิ้งท้าย/ขอบคุณ

     นพชัย : ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ร่วมทีมที่น่ารักและมีความสามารถทุกคนที่ร่วมกันพัฒนาโครงการดี ๆ ออกมา

     ขอบคุณอาจารย์ทุก ๆ ท่านที่คอยให้คำปรึกษาและนำเสนอความรู้ ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการวางรากฐานความคิดจนทำให้ทีมสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จครับ

     นอกจากนี้ ทีม NOY Ah Consulting นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ เตชิต เสาแบน ภาควิชาการการตลาด (MK), สุภกิณ ทิศา หลักสูตรตรีควบตรี-โท ทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ (IBMP), ชนัญดา กสิวัฒน์ ภาควิชาการบัญชี โครงการบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) และ ภูริณัฐ มรกตอัมพรกุล ภาควิชาการเงิน โครงการบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA)