Loading...

8 มีนาคม “วันสตรีสากล” ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะเรื่องเพศเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กฎหมายจึงมีหน้าที่ทำความใจเรื่องเหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหากฎหมายเรื่องเพศให้ตรงจุด

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2564 

 

     วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล หรือ International Women's Day แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า "วันแรงงานสตรีสากล" ความสำคัญของวันนี้มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญต่อผู้หญิงทุกคนบนโลกที่มีผลต่อความสำเร็จทางภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมโดยทั่วไป ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคมถือว่าเป็นเดือนประวัติศาสตร์ของสตรี (Women's History Month) เดือนนี้จึงมีนัยยะสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักถึงความไม่เสมอภาคทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เราจึงได้เห็นว่าในหน้าสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก มีผู้หญิงจำนวนมากออกมาประท้วงหรือติดแฮชแท็กต่าง ๆ ในสื่อโซเชียลของตน เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิที่ผู้หญิงควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกับเพศอื่น ๆ

     อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในทางกฎหมายเวลาเรามีการเรียกร้องสิทธิสตรี เราจะเรียกร้องในฐานความเข้าใจของความเท่าเทียมทางเพศ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะคุณจะมองไปที่กฎหมายในประเทศ ระหว่างประเทศ หรือประเทศอื่น ๆ ก็ตาม คุณจะไม่สามารถหานิยามของคำว่าสิทธิสตรีในตัวบทกฎหมายได้เลย เพราะว่ามันจะไปซ่อนอยู่ในประโยคที่เขาบอกว่ากฎหมายจะรับรองความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยความเท่าเทียมระหว่างเพศสามารถมองได้ 2 ทาง คือ 1. มองบนฐานที่เรียกว่าฐานของความเหมือน และ 2. คือฐานของความแตกต่าง สิ่งที่สำคัญมากที่เราต้องระลึกไว้ตลอดเวลาก็คือว่า เรื่องของเพศเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่สามารถจะระบุได้ว่า เมื่อไหร่เพศไหนทำอะไรถึงจะถูกต้องกันแน่ หน้าที่ของกฎหมายท้ายที่สุดแล้วคือทำอย่างไรที่เราจะทำให้สามารถรองรับและเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของความเข้าใจทางเพศและเพศสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมได้ ดังนั้นอันนี้จึงจะเป็นกล่องความเข้าใจในเรื่องของสิทธิสตรีคร่าว ๆ ในทางกฎหมาย

     กฎหมายที่ผู้หญิงควรจะรู้ อย่างแรกเลยกฎหมายคุ้มครองการใช้แรงงานหญิง ซึ่งมีดังนี้

       1. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานต่อไปนี้

     - งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้าง ที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขาเว้นแต่ลักษณะของงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือร่างกายของลูกจ้างหญิงนั้น

     - งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป

     - งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ

     - งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

       2. ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิง ที่มีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. - 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

     - งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขาเว้นแต่ลักษณะของงาน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือร่างกายของลูกจ้างหญิงนั้น

     - งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน

     - งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ

     - งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม

     - งานที่ทำในเรือ

     - งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

       3. พนักงาน ตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงานหรือชั่วโมงทำงาน ของลูกจ้างหญิงที่ทำงานในระหว่างเวลา 24.00 น. - 06.00 น. ได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างหญิงนั้น

       4. ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ กรณีที่มีใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้

       5. ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

     และอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้หญิงพบเจอค่อนข้างบ่อยในสังคมคือ การล่วงละเมิดทางเพศ โดยอาจารย์สุประวีณ์ ได้ให้คำแนะนำว่า ควรรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด อันนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะเรามีกฎหมายที่รองรับทุกอย่างแล้ว แต่สุดท้ายกฎหมายไม่สามารถถูกนำไปใช้งานได้เพราะว่าเรื่องราวที่ฟ้องมีหลักฐานไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้หญิงควรจะรู้ต่อไปคือ ถ้าหากว่าเป็นเรื่องทางเพศ ตามประมวลกฎหมายวิธีความพิจารณาความอาญา บอกชัดเจนว่า ผู้หญิงสามารถขอให้มีพนักงานสอบสวนหญิง เป็นผู้สอบสวนเรื่องของเราได้ เพราะผู้หญิงบางท่านอาจจะไม่อยากจะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้กับผู้ชายฟัง และสุดท้ายถ้าหากคุณอายุน้อยกว่า 18 ปี คุณสามารถขอให้มีนักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยา สามารถอยู่กับคุณในระหว่างที่มีการสอบสวนขึ้นได้เช่นเดียวกัน นี่จึงคิดว่าเป็นสิทธิตั้งต้นทั้งหมดที่อยากให้ผู้หญิงทุกคนรู้

     มีข้อความหนึ่งที่ส่วนตัวค่อนข้างชอบมากเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจของผู้หญิง คือ เขาบอกว่า “ผู้หญิงเป็นคนที่เกิดมาในสังคมที่ทุกคนถนัดมือขวา แต่เรากลับพบว่าจริง ๆ แล้วเราถนัดมือซ้าย เราอยู่ในสังคมที่เวลาเราไปเรียน เก้าอี้เลคเชอร์ของคุณมีแค่ที่รองแขนสำหรับคนที่ถนัดทางด้านขวาเท่านั้น ถ้าคุณเป็นคนถนัดซ้าย คุณจะทำยังไงกับปัญหาที่คุณพบเจอ” ซึ่งการแก้ปัญหานี้ก็มีหลายวิธีมาก ไม่ว่าคุณอาจจะดีไซน์เก้าอี้ใหม่ที่ไม่มีที่รองแขนเลย หรือว่าคุณจะเอาดีไซน์เดิมมาเปลี่ยนให้เป็นที่รองรับความถนัดการใช้มือข้างซ้ายของคุณ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาในเรื่องของผู้หญิง 1. คือคุณต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าปัญหามันเป็นอย่างไร เกิดขึ้น และคงอยู่ดำเนินการมาอย่างไร 2. เป็นเรื่องของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ว่าคุณจะแก้ปัญหาอย่างไร ให้สุดท้ายแล้วเราอยู่ในสังคมที่มอบโอกาสให้คนทุกคนไม่ว่าจะเพศไหน เพศสภาพไหนก็ตามมีโอกาสที่จะได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการและอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข อาจารย์สุประวีณ์ กล่าวทิ้งท้าย