Loading...

ธรรมศาสตร์ ยืนหนึ่งหนุนศักยภาพ ‘ผู้หญิง’ มหา’ลัยแห่งเดียวในไทย ที่เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs

คณะวิทยาการเรียนรู้ฯ ธรรมศาสตร์ ได้รับอนุมัติให้เป็น Signatory ของ UN Women’s WEPs ร่วมยืนหยัดกับ UN ยุติความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานและชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

     อาจารย์ ดร.สหวัชญ์ พลหาญ รองคณบดีฝ่ายบริหารและเครือข่ายสัมพันธ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการอนุมัติจากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 ให้คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เป็นผู้ที่สามารถลงนาม (Signatory) คำแถลง CEO Statement of Support เพื่อร่วมยืนหยัดกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะยุติความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานและชุมชน และนำหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี 7 ประการ หรือ the seven Women’s Empowerment Principles (WEPs) ไปใช้ประกอบการบริหารงานของหน่วยงาน

     สำหรับการอนุมัติให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนาม (Signatory) ของ UN Women’s WEPs ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นผู้ลงนามนี้ และยังเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการให้โลกรู้ว่า สถาบันการศึกษาแห่งนี้ สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในการปฏิบัติงาน การคัดเลือกบุคลากรอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

     ด้าน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ รวมถึงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นหน่วยงานภายในคณะ มีนโยบายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะความเท่าเทียมเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และนักเรียนในบริบทของการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสังคม เพื่อสร้างบุคลากรด้านการศึกษาและพลเมืองที่มีความสามารถและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมด้วย

     ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มีเจตนาชัดเจนที่ต้องการแก้ไขความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง ที่ไม่ได้จำกัดแค่เพียงภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่มุ่งมั่นต้องการทำให้สังคมภายนอก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้ตระหนักในประเด็นเหล่านี้ เช่นเดียวกับการดำเนินการที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาตัวอย่างในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด

     “การให้ความสำคัญกับหลักการที่เป็นสากลในการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชายจะช่วยให้เราได้เห็นสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม เพราะการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในที่ทำงานและส่งเสริมศักยภาพของคนทำงานทุกเพศจะช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพิ่มโอกาสของการพัฒนาประเทศ และส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว