Loading...

ธรรมศาสตร์ ยกทัพนักวิจัย-อาจารย์ รับรางวัล “วันนักประดิษฐ์ ปี 2566” ตอกย้ำ “มหาวิทยาลัยวิจัย” ชั้นนำ

คณาจารย์ และนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 รวม 14 รางวัล

วันพฤหัสบดี 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

     คณาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) รวมทั้งสิ้น 14 รางวัล จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายเพื่อนำไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน” (World Class University For The People) ธรรมศาสตร์จึงต้องมีความเป็นนานาชาติในรอบด้าน ซึ่งในด้านการวิจัยธรรมศาสตร์นั้น ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีชื่อเสียงในระดับโลก ที่ผ่านมานักวิจัยธรรมศาสตร์ สามารถผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์สังคมมาโดยตลอด โดยได้รับรางวัลการันตีจากหลากหลายเวทีทั้งในระดับชาติและในระดับสากลอย่างต่อเนื่องในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นกลไกในการผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่มาตรฐานสากล ขณะเดียวกันยังตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ

     “การที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติถึง 14 รางวัลในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้และการสนับสนุนทุนต่าง ๆ” รศ.เกศินี กล่าว

     ด้าน ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนั้น ธรรมศาสตร์ได้สนับสนุนทุนวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย ที่ช่วยให้อาจารย์มีเครือข่ายในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติ ทุนสนับสนุนในการเชิญ Chair Professorship ในต่างประเทศมาทำงานร่วมกับนักวิจัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาการทำงานวิจัยให้มีคุณภาพสูง สามารถตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ มีบุคคลอ้างอิงในระดับต้น นอกจากนั้น ยังมีทุนให้อาจารย์ได้นำเสนองานในเวทีต่างประเทศ เพราะการไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศนั้น จะเป็นเวทีที่อาจารย์จะได้พบปะกับนักวิจัยในต่างประเทศและนำมาสู่เครือข่าย ธรรมศาสตร์ยังมีทุนให้อาจารย์เพื่อสร้างเครือข่าย เช่น การเข้าร่วมงานประชุม การจัดสัมมนา และการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกันอีกด้วย

     “ในส่วนของงานวิจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและประชาชน ธรรมศาสตร์ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยขนาดใหญ่ โดยให้มีการทำงานร่วมกันในหลาย ๆ สาขา เพราะงานวิจัยที่จะสามารถช่วยเหลือประเทศได้นั้น มักเป็นงานวิจัยที่ต้องผนวกเอาหลาย ๆ องค์ความรู้เข้าด้วยกัน เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอในเชิงนโยบายได้ว่าประเทศจะก้าวไปในอนาคตได้อย่างไร” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

     สำหรับปีนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 ทั้งสิ้น 14 รางวัล ดังนี้

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 1 ท่าน ดังนี้

     1. ศาสตราจารย์ ดร.ศากุน บุญอิต

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สาขาเศรษฐศาสตร์)

รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 7 รางวัล ดังนี้

ระดับดี 7 รางวัล

     1. ผลงานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการแบ่งตัวและการเจริญพัฒนาไปเป็นเซลล์กระดูกของเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ที่แยกจากเนื้อเยื่อรกของมนุษย์โดยสารแอนโดรกราโฟไลด์”

โดย 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์

        2. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภาคภูมิ เขียวละม้าย

        3. ศาสตราจารย์ ดร.ศิริกุล มะโนจันทร์

        4. รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตัณทราวัฒน์พันธ์

        5. นฤพงศ์ ภูนิคม

        และคณะ คณะแพทยศาสตร์

     2. ผลงานวิจัยเรื่อง “การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติ มาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”

โดย  1. รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด

         2. อาจารย์ ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล

          และคณะ คณะนิติศาสตร์

     3. ผลงานวิจัยเรื่อง “โค่นยักษ์เพื่อสถานภาพ: Social Stigmatization of Status Dissatisfaction กับกรณีศึกษาสงคราม รัสเซีย-ญี่ปุ่น 1904-1905”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล คณะรัฐศาสตร์

     4. ผลงานวิจัยเรื่อง “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การนำเข้าและตลาดแรงงาน: กรณีศึกษาของประเทศไทย”

โดย 1. รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์

        2. รองศาสตราจารย์ ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์

        คณะเศรษฐศาสตร์

     5. ผลงานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ”

โดย 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์

        2. อาจารย์พิชญ์ จงวัฒนากุล และคณะ

        คณะเศรษฐศาสตร์

     6. ผลงานวิจัยเรื่อง “การยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถจักรยานยนต์เช่าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล

        คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง

     7. ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัครนัย ขวัญอยู่

        คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (ผู้ร่วมวิจัย)

   

รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 2 รางวัล ดังนี้

ระดับดีมาก 2 รางวัล

     1. วิทยานิพนธ์เรื่อง “พลศาสตร์ของพลาสมาโค้งที่มีเกลียวสนามแม่เหล็กและกระแส”   

โดย ดร.ภากร ว่องไวทยกรกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        สำเร็จการศึกษา: California Institute of Technology, สหรัฐอเมริกา

        อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก: Professor Paul Bellan

     2. วิทยานิพนธ์เรื่อง “การทำให้หน้าที่เปิดเผยข้อมูลก่อนเข้าทำสัญญาสอดคล้องตรงกัน: ปัจจัยสำคัญสู่การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

โดย อาจารย์ ดร.จุฑามาศ ถิระวัฒน์ คณะนิติศาสตร์

        สำเร็จการศึกษา: Georgetown University, สหรัฐอเมริกา

        อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก: Professor Gregory Klass

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 4 รางวัล ดังนี้

ระดับดี 1 รางวัล

     1. ผลงานเรื่อง “ระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและพัฒนาภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และรมย์นลิน จันทะวงษ์

        คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ระดับประกาศเกียรติคุณ จำนวน 3 รางวัล

     1. ผลงานเรื่อง “เครื่องวิเคราะห์สารกลุ่มซัลไฟต์แบบอัตโนมัติในอาหาร”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร ยังวิเศษ

        และคณะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     2. ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศน์ชักนำรากลอย เพื่อแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนแบบถาวร”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ และปิยะพงษ์ สอนแก้ว

        คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     3. ผลงานเรื่อง “เครื่องวัดสมรรถภาพทางกายแบบบันทึกในคลาวด์ FIBER FIT”

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกษรา รักษ์พงษ์สิริ

        และคณะ คณะสหเวชศาสตร์