Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือสมาคมฯ อบจ. พัฒนาองค์ความรู้ถ่ายโอนฯ รพ.สต. หนุน 'ท้องถิ่น' จัดบริการปฐมภูมิแบบองค์รวม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับสมาคม อบจ. แห่งประเทศไทย พัฒนาองค์ความรู้-งานปฐมภูมิของท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจฯ รพ.สต.

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2566

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 โดยจะเน้นพัฒนาศักยภาพของ อบจ. ทั่วประเทศ ในการจัดบริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมต่อเนื่อง และมีคุณภาพมาตรฐานให้แก่ประชาชน

     สำหรับสาระสำคัญของ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย คือทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและการส่งเสริมให้มีความรู้และนวัตกรรมในการจัดการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะระบบสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ภารกิจการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลสุขภาพองค์ จึงจะร่วมมือกันใน 4 ประเด็นสำคัญ

     ทั้งนี้ ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมฯ จะร่วมมือสนับสนุน ส่งเสริมงานด้านวิชาการ งานวิจัย นวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการจัดการด้านสุขภาพให้แก่ อบจ. 2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมฯ จะร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพของ อบจ. ผ่านหลักสูตรปริญญา หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On Job Training)

     3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมฯ จะร่วมมือจัดตั้งและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูไต ศูนย์กายภาพบำบัด และศูนย์การเรียนรู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพตามหน้าที่และอำนาจของ อบจ. 4. บันทึกข้อตกลงนี้ให้มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

     รศ.เกศินี กล่าวว่า จุดแข็งของระบบสุขภาพไทยคือการมีสาธารณสุขมูลฐานที่ครอบคลุมการดูแลกาย ใจ สังคม และปัญญา มีระบบบริการปฐมภูมิทำหน้าที่เปรียบกับหน้าด่านเชื่อมร้อยการบริการชุมชนเข้ากับบริการทางการแพทย์ โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิครั้งใหญ่ ด้วยการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ.

     ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของการถ่ายโอนฯ คือประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น ระบบบริการเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งงานบริการ งานวิชาการ งานบริหาร นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาองค์ความรู้ ยกระดับศักยภาพของท้องถิ่นให้มีความพร้อมมากขึ้น

     คุณบุญชู กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมา อบจ. ทั่วประเทศจะดำเนินการร่วมกับประชาชนในการดูแลสุขภาพของท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง แต่การถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับ อบจ. จะทำให้แนวทางการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในฐานะตัวแทน อบจ. ทั่วประเทศ ขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศให้ดีที่สุด และรู้สึกยินดีที่ได้ทำความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนการจัดระบบบริการสุขภาพของคนในพื้นที่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มีประสิทธิภาพ