Loading...

เปิดบทบาท ‘ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง’ สร้างความเข้มแข็งชุมชน ยกระดับผู้ประกอบการ-ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง บทบาทด้านการศึกษา-พัฒนาศักยภาพคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ พร้อมหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่น สืบสานอัตลักษณ์จังหวัด

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ.2565

     รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดลำปาง และนโยบายของมหาวิทยาลัยมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ออกแบบการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการขับเน้นจุดเด่นของจังหวัดลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในพื้นที่และจังหวัดลำปาง ซึ่งหมายถึงประเทศไทยในท้ายที่สุด

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษา วิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการผลิต ให้แก่นักศึกษา ผ่านหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตรงกับอัตลักษณ์ของจังหวัด ทั้งในด้านภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา เซรามิค อันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อด้วย

     นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยังมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่ได้สร้างนวัตกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการเกษตร อาทิ การสร้างโมเดลทำนายผลผลิตและราคาข้าวในประเทศไทย ฟาร์มคะน้าอัจฉริยะพร้อมระบบตรวจสอบโรค การปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ควบคู่กับการเลี้ยงปลาหางนกยูง และหุ่นไล่กาอัจฉริยะพร้อมระบบไล่นก ซึ่งผลงานของนักศึกษาเหล่านี้ล้วนได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดต่าง ๆ ไปแล้วมากมาย

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวว่า นอกเหนือไปจากผลงานด้านการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยังมีโครงการบริการสังคมอีกหลายโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.ลำปาง ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในด้านการให้ความรู้และทักษะแก่ผู้ประกอบการชุมชน ด้วยโครงการ Upskill เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ตลาดออนไลน์ ส่งเสริมชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการเปิดร้านขายสินค้าชุมชนและสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมเรียนรู้เทคนิคการขายของออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ

     ขณะที่ด้านการส่งเสริมท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงและจัดทำพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ใน จ.ลำปาง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วัดปงสนุกเหนือ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ งานภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้กับประชาชนชาวลำปาง นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนนักท่องเที่ยว โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยังได้ร่วมออกแบบแผนที่เส้นทางเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด ให้ดูทันสมัยและน่าสนใจอีกด้วย

     นอกจากนี้ ยังมีในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้บูรณาการกับภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมมือกันออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนที่คงอัตลักษณ์ของจังหวัด และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ชุดกาน้ำชาเซรามิคลวดลาย  อัตลักษณ์ลำปาง หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพชุมชน ท่ามะโอ ซึ่งได้รับรางวัล Demark Design Award 2020 และ CDA Award 2020 อีกด้วย

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ยังได้จัดทำโครงการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษใบไม้แห้ง และการจักสานเป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จำนวน 50 ตำบล ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการและจ้างนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมพัฒนาพื้นที่ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมประเด็นปัญหาและความต้องการต่าง ๆ ของชุมชน

     “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จะเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาศักยภาพคน เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี” รศ.ดร.สุปรียา กล่าว