Loading...

TU Chorus คว้าเหรียญทองเวทีนานาชาติ การแข่งขันขับร้องประสานเสียง ณ ประเทศเวียดนาม

ชุมนุมขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกทัพกวาดเหรียญทองเวทีแข่งขันขับร้องประสานเสียง ระดับนานาชาติ 7th Vietnam International Choir Competition

วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ.2566

     ชุมนุมขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Chorus) คว้ารางวัล Golden Diploma ในการแข่งขันขับร้องประสานเสียง ระดับนานาชาติ 7th Vietnam International Choir Competition ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 6 เมษายน 2566 ณ เมืองฮอยอัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีคณะประสานเสียงจากหลากหลายประเทศ จำนวน 18 คณะจาก 7 สัญชาติทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันประกอบไปด้วย เวียดนาม มาเลเซีย สโลวาเกีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และไทย

     ทีมธรรมศาสตร์ได้รางวัล Golden Diploma จาก 2 ประเภทการแข่งขันคือประเภท A1 – Mixed Choirs การแข่งขันคณะประสานเสียงที่มีทั้งเสียงชายและหญิง ระดับความยากระดับที่ 1 และประเภท F – Folklore การแข่งขันเพลงคติชน เพลงพื้นบ้านพื้นเมืองตามสัญชาติของคณะนักร้องประสานเสียง

     เรามาพูดคุยกับตัวแทนจากชุมนุมขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไปคว้าชัยถึงประเทศเวียดนาม ว่าอะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้

ความยากและหัวใจหลักของการขับร้องประสานเสียง

     นนท์วริศ รุ่งอริยธนาพงษ์ วาทยกรและผู้ฝึกสอนประจำชุมนุมขับร้องประสานเสียงฯ: ความสามัคคี และระเบียบวินัย คือสิ่งสำคัญ ต่อให้เราเป็นนักร้องที่เก่ง เสียงดี แต่ถ้าเราไม่มีความสามัคคี และระเบียบวินัยที่ดีต่อการมาซ้อม เราจะไม่มีวันประสบความสำเร็จในด้านการร้องเพลงประสานเสียง

     ณัฐธิดา ตระการวงศา ผู้ช่วยวาทยกรและผู้ฝึกสอนประจำชุมนุมขับร้องประสานเสียงฯ: ความเป็นหนึ่งเดียวและความคิดที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญ การจะให้คิดและตีโจทย์เพลงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมันจึงเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคน 30 กว่าคน เราต้องเชื่อใจในตัวเอง เชื่อใจเพื่อนข้างๆ เรา และเชื่อใจในวาทยกรของเรา

     ปิยมน พิชัยยุทธ์ นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ประธานชุมนุมขับร้องประสานเสียงฯ และนักร้องประสานเสียง พาร์ท โซปราโน่: หัวใจหลักของการร้องประสานเสียงคือเราจะต้องร้องกันแบบเป็นทีมเวิร์ค ต้องไว้ใจกัน เชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เสียงที่ออกมามีความเป็นหนึ่งเดียวกัน

     พีรภาส สะอาดแก้ว นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ประธานโครงการการแข่งขันประกวดวงขับร้องประสานเสียงนานาชาติเวียดนาม ครั้งที่ 7 และนักร้องประสานเสียง พาร์ท เทเนอร์: สิ่งที่ยากในการขับร้องประสานเสียงอย่างหนึ่งคือการนึกภาพและสร้างบรรยากาศของบทเพลงนั้นในหัวไว้ตลอด เพื่อให้การขับร้องเข้าถึงอารมณ์ให้ได้ และหัวใจหลักที่ขาดไม่ได้เลยคือการฟังนักร้องคนอื่น ๆ ในทีม เพราะการขับร้องประสานเสียงถือเป็นงานที่ต้องใช้ความร่วมมือของคนหลายคน ไม่ใช่แค่คน ๆ เดียว

เบื้องหลังการฝึกซ้อม

     นนท์วริศ: เราเริ่มจากการประชุมกัน วางทิศทางของวง และเริ่มออดิชันหานักร้อง และคุยกับทางมหาวิทยาลัยให้ซัพพอร์ตความฝันของเรา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ต้องขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่ซัพพอร์ตความฝันของน้อง ๆ

     ณัฐธิดา : หลังได้รับโจทย์ ค่อนข้างที่จะวางแผนการฝึกซ้อมยาก เพราะทักษะและเทคนิคของน้อง ๆ ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่จะแข่งขันได้ในช่วงเวลานั้น อีกทั้งเหลือเวลา 6-7 เดือน ก่อนแข่งขัน ซึ่งปกติถ้าจะเตรียมพร้อมไปแข่งขันที่เริ่มจากศูนย์ จะใช้เวลาขั้นต่ำประมาณ 1 ปี เราจึงต้องปรับเปลี่ยนแผน เพิ่มวันซ้อม เพื่อให้ทันการแข่งขัน

     ปิยมน : เรามีการกำหนดช่วงระยะเวลาการฝึกซ้อมแต่ละเดือน และกำหนดเป้าหมายในการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง โดยตัวนักร้องจะต้องเตรียมตัวกับการซ้อมและการรับผิดชอบโน้ตของตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งการซ้อมสำหรับการไปแข่งจะเป็นการซ้อมที่ค่อนข้างหนักมาก ๆ

ความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัล

     พีรภาส: ภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในตัวเพื่อน ๆ และภูมิใจในตัววาทยกรของวงด้วยครับ อีกความรู้สึกหนึ่งคือความรู้สึกไว้ใจ ผมไว้ใจเพื่อน ๆ ในวงทุกคนมาตลอดว่าทุกคนทำได้ และทุกคนมีศักยภาพ และการที่ได้เห็นรางวัลนี้อยู่ในมือของวงทำให้ผมได้รู้ว่า ผมเชื่อใจไม่ผิดจริง ๆ ครับ

     ปิยมน: ภูมิใจมากเพราะเราเห็นกระบวนการทั้งหมดในการไปแข่งขันในครั้งนี้ว่ากว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้เราผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะมาก ขอขอบคุณสมาชิกชุมนุมทุกคน ขอบคุณทีมงานเบื้องหลังทุกฝ่าย ขอบคุณพี่ๆเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษา และขอบคุณทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนับสนุนความฝันของพวกเรา 

ทิ้งท้าย...ฝากชุมนุม

     ชุมนุมขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Chorus) เป็นชุมนุมที่เมื่อเพื่อน ๆ เข้ามาแล้วจะได้ฝึกทั้งทักษะการร้องเพลง ทักษะการทำงานเป็นทีม และทักษะการสร้างศิลปะผ่านเสียงดนตรี นอกจากนี้ยังได้ความรู้ทางดนตรีที่ล้นเหลือไปอีกด้วย โดยสามารถติดตามพวกเราได้ทาง IG: @tuchorus_satb TikTok: @tuchorus_satb และทาง Facebook: TU Chorus Thammasat University