Loading...

ขยายมุมมองเรื่อง ‘คนข้ามเพศ’ กับการลดการเลือกปฏิบัติด้วยกลไกทางสังคม

Pride Month ปีนี้ธรรมศาสตร์ชวนมาพูดคุยถึงนิยาม ปัญหา ภาพในสังคมที่มีต่อ ‘คนข้ามเพศ’ และการลดการเลือกปฏิบัติด้วยกลไกทางสังคม

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2566

     ‘ความเป็นหญิง ความเป็นชาย’ กรอบทางเพศที่สังคมตีเส้นแบ่งว่าผู้หญิงและผู้ชายต้องเป็นอย่างไร ทำให้คนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่าง ‘คนข้ามเพศ’ ถูกกีดกัน ตีตรา จนนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ หากมองภาพสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการขับเคลื่อนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมฯ การแต่งกายข้ามเพศที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับ การมีผู้มีชื่อเสียงเป็น LGBTQIA+ ตอกย้ำว่าสังคมไทยในตอนนี้เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ แต่กลับยังไม่มีกลไกทางสังคมที่ยอมรับคนกลุ่มนี้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ ‘คนข้ามเพศ’ นั้นยังมีโอกาสด้านต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกับคนอื่น

     ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ Pride Month มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงชวนทุกท่านมาขยายมุมมองในเรื่อง ‘คนข้ามเพศ’ (Transgender) หรือตัว T ใน LGBTQIA+ กับ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาคลี่ภาพคนข้ามเพศในสังคมไทย และเสนอนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

     ‘ทรานส์’ ย่อมาจากคำว่า Transgender หรือในภาษาไทยคือ ‘คนข้ามเพศ’ เป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในการนิยามผู้ที่ข้ามอัตลักษณ์ทางเพศจากเพศกำเนิดไปสู่ตัวตนทางเพศของตัวเอง โดยในสังคมไทยถือว่าเป็นคำใหม่ที่ยังใช้กันอย่างไม่แพร่หลายนัก หลายคนจึงอาจสงสัยว่าตกลงแล้ว ‘ทรานส์’ คืออะไร?

     อาจารย์เคท อธิบายว่า ‘ทรานส์’ ถ้าแปลตรงตัวมันคือการข้าม แต่ในที่นี้คือการข้ามได้ทั้งทางเพศสภาวะ เพศสถานะ และเพศสภาพ สังคมไทยมีการใช้คำนิยามในการเรียกกลุ่มคนที่เป็นคนข้ามเพศอยู่ก่อนแล้ว อย่างคำว่ากะเทย สาวประเภทสอง แต่ความหมายการถูกเอามาใช้เกิดการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนมีการเอาคำว่า Transgender มาใช้ในการอธิบายคนกลุ่มดังกล่าวในปัจจุบัน

     ช่วงแรกมีการแปลคำว่า Transgender คือหญิงข้ามเพศ ชายข้ามเพศ แต่การใช้คำว่าหญิงข้ามเพศหรือชายข้ามเพศอาจมีความหมายที่เข้าใจยากและไม่ครอบคลุม ก็เลยมีการใช้คำว่า ‘คนข้ามเพศ’

     “ความหมายของคำว่า ‘ทรานส์’ เป็นร่มใหญ่ ไม่ว่าคุณจะข้ามเพศลักษณะแบบไหนก็ตาม ไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องผ่าตัดแปลงเพศเท่านั้นถึงจะเรียกว่าทรานส์ได้ ฉะนั้นลักษณะของการข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การแสดงออกตัวตนความเป็นเพศ การปรับเปลี่ยนร่างกาย การใช้ฮอร์โมน ลักษณะเหล่านี้อยู่ภายใต้คำว่า ทรานส์ หรือ คนข้ามเพศทั้งหมด” อาจารย์เคท กล่าว

ปัญหาของ ‘คนข้ามเพศ’ ในสังคมไทย

     ลักษณะของการข้ามเพศขัดต่อความคิดความเชื่อต่อเรื่องเพศในสังคม อาจารย์เคท อธิบายว่า สังคมมีการตีกรอบว่าผู้หญิงหรือผู้ชายควรจะต้องเป็นอย่างไร การข้ามเพศที่ออกนอกกล่องความเป็นเพศนี้เองทำให้ ‘คนข้ามเพศ’ ถูกตีตรา มองเป็นอื่น ถูกไม่ยอมรับตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคม หรือแม้แต่สถาบันทางสังคม หนักที่สุดก็คือการนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ

     ปัญหาที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่การยอมรับในระดับครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมไปถึงการยอมรับในการทำงาน การไม่ถูกยอมรับในพื้นที่เหล่านี้ทำให้คนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธิและโอกาสในการก้าวหน้าเหมือนคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำนำหน้านาม ที่ปัจจุบันแม้จะข้ามเพศไปเป็นเพศนั้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิตามเพศที่เราเลือกจะเป็น ปัญหาที่ตามมาคือเอกสารต่าง ๆ ที่ปรากฏคำนำหน้าชื่อเราก็จะไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ การต้องพิสูจน์ตัวตนก็จะเป็นปัญหา เป็นต้น

     การตีตรา การเลือกปฏิบัติ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติ ซึ่งยังมีการผลิตซ้ำความคิดภาพเหมารวม (Stereotype) นั้นอยู่ ตัวอย่างเช่นเวลาพูดถึงกะเทย ส่วนใหญ่จะนึกถึงความตลกโปกฮา ตัดสินไปว่าจะต้องเป็นคนพูดจาเสียงดัง ซึ่งความเป็นจริงแล้วทุกคนมีความแตกต่างหลากหลายกันทางบุคลิกภาพ ไม่จำเป็นเสมอไปว่ากะเทยต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้

     “แนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ไปบอกเขาว่า กลับไปเป็นผู้ชายแบบเดิมสิ กลับไปเป็นผู้หญิงแบบเดิมสิ มันไม่สอดคล้องกับหลักการที่เรียกว่าเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกตัวตนความเป็นเพศ แต่ที่ต้องแก้ไขคือกลไกทางสังคม หรือตัวกฎหมาย” อาจารย์เคท กล่าว

ลดการเลือกปฏิบัติ ด้วยการผลักดันนโยบาย

     ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศ ยอมรับตัวตน มองเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้น มีการขับเคลื่อนนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศที่มีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการสมรสเท่าเทียม เรื่องการรับรองเพศ หรือแม้แต่การพูดถึงเรื่องสิทธิในการทำงาน ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิทางเพศของคนเหล่านั้น

     “ถามว่าเรารออะไรอยู่ สิ่งที่สังคมไทยจะต้องมี ณ เวลานี้ก็คือการผลักดันในทางนโยบายและกฎหมาย ที่เราเรียกว่า การรณรงค์ทางนโยบาย (policy advocacy) หรือก็คือการที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศและคนในสังคมไทย จะช่วยกันไปผลักดันให้ผู้รับผิดชอบในเรื่องนโยบายนั้น สามารถยกเลิกกฎหมายเดิมที่มันละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้มีกฎหมายใหม่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียม”

     ตัวอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้อย่างอิสระ ซึ่งธรรมศาสตร์เปิดให้แต่งกายอย่างเสรีมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้าไม่ได้มีอยู่ในนโยบาย โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ตัดสินใจในการแก้ไขและประกาศอย่างเป็นทางการ เช่นการอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายได้ตามเพศสภาพ การไม่บังคับใช้คำนำหน้านาม สิ่งนี้มีความหมายมากเพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเรามีกลไกในการลดการตีตรา คนก็จะรู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ใครก็ตามจะไม่สามารถลิดลอน ละเมิดสิทธิในการแต่งกายหรือการแสดงออกตัวตนของเขาที่ได้รับอนุญาตแล้วได้

     “ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องไหนที่มองว่ามหาวิทยาลัย หรือสังคมที่เขาอยู่ มีการละเมิด ลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์อยู่ หน้าที่ก็คือจะต้องนำเสนอให้มีการแก้ไข แล้วขจัดการละเมิดนั้นให้ได้ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน” อาจารย์เคท กล่าวทิ้งท้าย