Loading...

คณะแพทย์ มธ. เปิด ‘ศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิด’ พัฒนานวัตกรรมการแพทย์-สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่

คณะแพทยศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและนวัตกรรมทางการแพทย์ สร้างองค์ความรู้พัฒนางานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2566

     คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและนวัตกรรมทางการแพทย์ (Center of Excellence in Stem Cell Research and Innovation: ESRI) โดยมี รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและบริหาร รักษาการแทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.ดร.ศิริกุล มะโนจันทร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและนวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ เข้าร่วมการเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ศ.ดร.ศิริกุล มะโนจันทร์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและนวัตกรรมทางการแพทย์ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 มีผลงานการค้นคว้าวิจัยทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นแหล่งเพิ่มพูนประสบการณ์ทางการศึกษาวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดของนักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต อักทั้งยังเป็นแหล่งผลิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านชีววิทยาและเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นกำลังคนระดับสูงของประเทศ

     ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ทางศูนย์ฯ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 40,000,000 บาท เพื่อปรับปรุงที่ดินสิ่งก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ห้องปฏิบัติการสำหรับเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด สำหรับการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ 2. ห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเซลล์ต้นกำเนิดและผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิดตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) สำหรับผลิตเซลล์ต้นกำเนิดและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ และ 3. ห้องปฏิบัติการเครื่องมือขั้นสูง ให้บริการตรวจวิเคราะห์ในระดับยีนและโมเลกุล โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอาทิ Gene Expression Analysis, Solid Tumor Profiling, PanCancer Pathway เป็นต้น

     ศ.ดร.ศิริกุล กล่าวทิ้งท้ายว่า ศูนย์ฯ จะมุ่งเน้นการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ อันนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และการฝึกประสบการณ์จริงของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยไทยในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน