Loading...

‘เซนเซอร์วัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด’ คัดกรองและรักษา ‘โรคเบาหวาน’ ผลงานนักวิจัยธรรมศาสตร์

นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคเบาหวาน ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ พกพาสะดวก แม่นยำกว่าการตรวจแบบเดิม

วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2566

     โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยอดฮิตที่หลายคนกำลังเผชิญ โดยจากสถิติปี 2565 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกแล้ว 537 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้ป่วยที่โรคเบาหวานมีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคน เรียกได้ว่าในทุก ๆ 5 วินาที จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย สืบเนื่องจากการเป็นโรคนี้

     จากสถิติดังกล่าว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่บอกได้ว่าการเป็นโรคเบาหวานนั้นรักษาไม่ง่าย เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องมีการควบคุมระดับน้ำตาลควบคู่ไปกับการรักษา ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องมีการไปตรวจเช็กน้ำตาลในเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับคำแนะนำและรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง แต่การตรวจเลือดดังกล่าวมีข้อจำกัดทั้งด้านค่าใช้จ่าย การเดินทาง รวมไปถึงก่อนตรวจผู้ป่วยต้องงดรับประทานอาหารก่อนหนึ่งคืนเพื่อให้ไม่มีน้ำตาลอยู่ในเลือด ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผลตรวจอาจเกิดการคลาดเคลื่อน อันเป็นอุปสรรคในการรักษาโรคเบาหวาน

     เพื่อให้การตรวจน้ำตาลในเลือดมีความสะดวกต่อผู้ป่วยมากขึ้นทั้งในด้านค่าใช้จ่าย และความแม่นยำของผลตรวจที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรม ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ ร่วมกับ รศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น, ผศ.ดร.เบญจมาภรณ์ ตั้งนรวิชญ์ และขนิษฐา พลสันติ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ เป็นเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยการวัดระดับไกลโคไซเลทฮีโมโกลบิน เป็นน้ำตาลที่ไปเกาะกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงซึ่งมีอายุขัยสามเดือน ทำให้ค่าที่ได้คงที่ไม่ขึ้นอยู่กับเราเจาะเมื่อไหร่ จะทานอาหารหรือไม่ทาน จึงเป็นวิธีที่แม่นยำกว่าการตรวจแบบเดิม

     โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังถ้าเราวินิจฉัย ไม่ทันท่วงทีตั้งแต่แรกจะมีความซับซ้อนมาก ส่งผลต่อทั้งอวัยวะต่าง ๆ ระบบหัวใจ ไต รวมถึงระบบประสาท เพราะฉะนั้นควรวินิจฉัยให้ทันท่วงที โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรจะต้องมีการตรวจมอนิเตอร์ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ตลอดเวลา

     ซึ่งเครื่อง Point-of-care testing อย่างนวัตกรรม ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาล สะสมในเลือด (MyA1c)’ นั้นสามารถพกพาติดตัวตรวจระดับน้ำตาลที่บ้านได้เลย ทำให้ผู้ป่วยมอนิเตอร์ระดับน้ำตาลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เมื่อไปพบแพทย์ก็สามารถนำผลดังกล่าวไปประกอบการรักษาและประเมินได้ว่าเราควบคุมน้ำตาลได้ขนาดไหน ต้องมีการปรับเปลี่ยนยาหรือไม่ ทำให้การรักษาโรคเบาหวานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กลไกการทำงานของนวัตกรรม

          นวัตกรรม ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ มีส่วนประกอบดังนี้

     1. เครื่องเซ็นเซอร์ เครื่องนี้จะตรวจวัด ไกลโคไซเลทฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่า HbA1c หรือ Hemoglobin A1c เป็นการตรวจวัดค่าเฉลี่ยของน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือดที่จับกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะอ่านและแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน โดยใช้เวลาประมวลผลภายใน 30 วินาที

     2. แผ่นอิเล็กโทรด ทํามาจากมัลติวอลล์คาร์บอน ซึ่งเคลือบด้วยนาโนพาติคอลนำกระแสไฟฟ้าที่ทำมาจากเปลือกเสาวรส เป็นการนำของเหลือใช้ (waste product) มารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้งานคือเจาะเลือดหยดลงบนอิเล็กโทรด แล้วเสียบกับเครื่องเซ็นเซอร์ที่ต่อกับโทรศัพท์มือถือ เพื่ออ่านค่าระดับน้ำตาลผ่านแอปพลิเคชัน

     3. แอปพลิเคชัน MyA1c สามารถติดตั้งได้ในโทรศัพท์มือถือ ตัวแอปฯ จะอ่านค่าจากเครื่องเซ็นเซอร์แสดงผลระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะมีการวิเคราะห์ให้เลยว่าเราสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขนาดไหน ซึ่งค่าจะแสดงออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณของฮีโมโกลบินทั้งหมดในเม็ดเลือดแดง

     กลไกการทำงานของนวัตกรรมคือการวัดระดับน้ำตาลในเลือดผ่านความต่างศักย์ โดยเมื่อหยดเลือดลงในอิเล็กโทรดแล้วเสียบไปที่ตัวเครื่อง ตัวเครื่องเซ็นเซอร์จะทำหน้าที่วัดฮีโมโกลบินของเราด้วยความต่างศักย์แล้วประมวลผลออกมาว่าที่ความต่างศักย์ตรงนี้ เป็นจุดที่ Hemoglobin A1c จะต้องวัดได้มีปริมาณแค่ไหน

     โดยความแม่นยำจากการตรวจด้วย MyA1c นั้นอยู่ในระดับสูงมาก เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ซึ่งหมายความว่าตัวเครื่องจะวัดเฉพาะสารที่ต้องการวัดเท่านั้น ไม่วัดสารอื่น ๆ ที่อยู่ในเลือด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการวินิจฉัยและรักษาโรค

     ปัจจุบันนวัตกรรม ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อให้มีมาตรฐานสามารถใช้งานและออกสู่ท้องตลอดได้ ซึ่งราคาของเครื่องดังกล่าว ศ.ดร.เกศรา กล่าวว่า จะต้องเหมาะสมไม่แพงเกินไปและสามารถใช้ในผู้ป่วยวงกว้างได้ในอนาคต

     “เราประดิษฐ์นวัตกรรมขึ้นมาต้องคิดถึงว่านอกจากจะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำแล้ว การใช้งานจริงด้านของราคาเองก็ต้องมีความเหมาะสมด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถใช้ในผู้ป่วยวงกว้างได้ อย่างที่กล่าวไว้ว่าเบาหวานเป็นกันทั่วโลก คนไทยก็เป็นกันเยอะ ดังนั้นเครื่องนี้หากสามารถกระจายใช้กันในวงกว้างได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการสาธารณสุขไทย” ศ.ดร.เกศรา กล่าว

     ทั้งนี้ ผลงาน ‘เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (MyA1c)’ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations of the Jury) จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับโลก The 48th International Exhibition of Inventions Geneva มาได้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ และการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ