Loading...

ตอกย้ำความสำเร็จนวัตกรรมไทย! ธรรมศาสตร์ ชู 3 โครงการ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก-รับมือโควิด-สังคมสูงวัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นพัฒนานวัตกรรม 3 โครงการระดับประเทศ-นานาชาติ คลี่คลายความทุกข์ร่วมของสังคม คือภารกิจของชาวธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ธรรมศาสตร์มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมผ่านการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ทั้งในแง่ของนวัตกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการพัฒนา 3 นวัตกรรม ที่มีส่วนช่วยเศรษฐกิจฐานราก รับมือสังคมผู้สูงอายุ และการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19

     ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ผลงาน “ธรรมศาสตร์โมเดล” การเรียนรู้ผ่านการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับธุรกิจฐานราก โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งได้รับรางวัลรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตระดับนานาชาติ รางวัล Silver Award ในหัวข้อ “Best Lifelong Learning Initiative 2021” ที่มอบให้โดย Association of MBAs (AMBA) และ Business Graduates Association (BGA) องค์กรรับรองคุณภาพหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับสากลและองค์กรรับรองคุณภาพ Business School สหราชอาณาจักร ถือเป็นรางวัลแรกและรางวัลเดียวในไทยและอาเซียน

     2. ผลงาน Space Walker” อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ให้เป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ ลดการนำเข้า ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเวลเนสในสังคม โดยสามารถทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท มีการนำไปใช้แล้วกว่า 200 เครื่องทั่วประเทศ

     3. ผลงาน “นวัตกรรมการวิเคราะห์และรายงานการใช้หน้ากากอนามัยเป็นรายพื้นที่แบบทันท่วงที (real-time) ด้วยเทคโนโลยี AI” จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพและวิดีโอที่สามารถตรวจนับได้ว่ามีผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยกี่คน สวมใส่อย่างถูกต้องหรือไม่ และมีผู้ไม่สวมใส่จำนวนเท่าใด ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินพฤติกรรมและประเมินว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง และจำเป็นต้องได้รับส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้หน้ากากอนามัย โดยล่าสุดได้รับคัดเลือกจาก อว. และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้เป็นนวัตกรรมในการสนับสนุนภารกิจยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

     รศ.เกศินี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย รวมถึงช่วยคลี่คลายปัญหาและความทุกข์ร่วมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรากฐานและการพัฒนาประเทศอย่างการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำงานภายใต้บทบาทและอุดมการณ์ของประชาคมธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน