Loading...

นักศึกษา มธ. คว้าเหรียญอาเซียนพาราเกมส์ เล่าเบื้องหลังความสำเร็จและมุมมองถึงกีฬาคนพิการ

เพราะความพิการไม่ใช่อุปสรรค พูดคุยกับนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่คว้าเหรียญในการแข่งขันว่ายน้ำ อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ณ ประเทศกัมพูชา

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2566

     จบไปแล้วกับกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games) ครั้งที่ 12 "กัมพูชา 2023" ที่มีการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 3-9 มิ.ย. 2566 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยในครั้งนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมแข่งขัน และสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมา

     พูดคุยกับนักกีฬาหนึ่งเดียวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พชร สิงห์มานนท์ นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ สาขาการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ ในกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 โดยสามารถคว้าเหรียญรางวัลมาได้ทั้งหมด 4 เหรียญ แบ่งเป็น 2 เหรียญเงิน จากกีฬาว่ายน้ำประเภทฟรีสไตล์ 100 ม. และประเภทผลัดฟรีสไตล์ 4x100 ม. ส่วนอีก 2 เหรียญทองแดงได้จากกีฬาว่ายน้ำประเภทกรรเชียง 100 ม. กับประเภทฟรีสไตล์ 50 ม.

เล่าถึงความสำเร็จ

­­     พชร เล่าความรู้สึกว่า ดีใจมากที่สามารถคว้าเหรียญกลับมาได้ แม้จะไม่ใช่เป้าหมายที่ตั้งไว้คือการได้เหรียญทอง ที่ผ่านมามีการฝึกซ้อมมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกีฬาว่ายน้ำเป็นกีฬาประเภทที่ต้องฝึกฝนด้านเทคนิค ใช้ส่วนของขา แขน ลำตัว ดังนั้นจึงต้องฝึกฝนให้มีเทคนิคที่จะว่ายให้เร็วที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเอาชนะตัวเองและเอาชนะคู่ต่อสู้ เพราะกีฬาว่ายน้ำตัดสินกันด้วยระยะเวลา ยิ่งทำเวลาได้ดี ก็จะยิ่งเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้นเท่านั้น

     “ความสำเร็จนี้คงไม่ได้มีตัวผมอย่างเดียวที่ทำให้สำเร็จ มีทั้งโค้ชที่คอยฝึกซ้อม ทั้งทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนับสนุนอย่างเข้าใจในเรื่องการเรียน รู้สึกดีใจที่ตนเองทนเหนื่อยมาตลอด การเป็นนักกีฬามันใช้เวลา ต้องสละเวลาว่างในการฝึกซ้อม ดีใจที่สามารถทนกับความเหนื่อยนั้นได้ สำหรับเป้าหมายในอนาคตที่วางไว้ คือการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำมืออาชีพต่อไป และต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถไปยังเป้าหมายสูงสุดได้คือการได้แข่งขันกีฬาพาราลิมปิก” พชร กล่าว

ความพิการไม่ใช่อุปสรรค

     การแข่งขันกีฬาของคนพิการ ก็เหมือนคนที่ไม่พิการ ที่ต้องมีการฝึกซ้อมความสามารถ ซึ่งคนพิการเองหากมีวินัย ขยันฝึกฝน ก็สามารถขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่มีความสามารถได้ โดยที่บางครั้ง คนพิการบางคนอาจจะว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาบางประเภทได้ดีกว่าคนไม่พิการด้วยซ้ำ

     “มีบางคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เวลามองนักกีฬาคนพิการ มักไปสนใจเรื่องความพิการ มากกว่าความสามารถ อยากจะบอกว่าเราไม่ได้ใช้ความพิการในการแข่งขัน แต่เราใช้ความสามารถในการแข่งขัน อยากให้ทุกคนลองเปิดใจ และมองว่าคนพิการก็คือคน ๆ หนึ่ง ที่ก็เหมือนกับทุกคนที่มีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ถ้าขยันฝึกซ้อม ไม่ย่อท้อ ก็สามารถเก่งในเรื่องนั้นได้เช่นกัน อยากให้มองคนพิการคือคนเท่ากัน” พชร กล่าว

มองกีฬาคนพิการในสังคมไทย

     พชร แสดงความคิดเห็นว่านักกีฬาคนพิการในประเทศไทย ยังไม่ค่อยถูกมองเห็นจากสังคม การได้เงินสนับสนุนก็อาจได้ไม่เท่ากับนักกีฬาที่ไม่พิการแม้จะเป็นกีฬาประเภทเดียวกันก็ตาม จึงคิดว่าควรมีการทำให้เกิดความเท่าเทียม และมีการสื่อสารเรื่องกีฬาคนพิการมากกว่าเดิม โดยที่นำเสนอที่ความสามารถมากกว่าการโฟกัสที่ความพิการ อยากให้เห็นถึงความพยายามเบื้องหลังเพื่อที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จของนักกีฬาพิการแต่ละคนมากกว่า

     “อย่างเรื่องเงินสนับสนุนนักกีฬา ที่นักกีฬาคนพิการยังได้ไม่เท่ากับนักกีฬาไม่พิการในกีฬาเดียวกัน หรืออย่างการสื่อสาร หลายคนในสังคมเองยังไม่เคยได้ยินชื่อกีฬาของคนพิการ ว่าอาเซียนพาราเกมส์คืออะไร พาราลิมปิกคืออะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นกีฬาในรายการเดียวกับการแข่งกันซีเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ผมไม่ได้อยากได้มากกว่าคนอื่น แต่อยากให้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ให้เล็งเห็นถึงความพยายาม ต้นทุนที่ต้องใช้ของคนพิการในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นนักกีฬาที่มีคุณภาพ”

ทิ้งท้ายถึงเพื่อน ๆ

     อยากฝากบอกถึงพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อนพิการที่มีความสนใจอยากเป็นนักกีฬาว่า อย่าพึ่งตั้งกรอบตัวเองจากร่างกาย หรือความพิการ เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นนักกีฬา ถ้าเรามีเป้าหมาย ไม่ย่อท้อ มีความพยายาม ขยันฝึกซ้อม ก็สามารถเก่งได้ไม่แพ้ใครเหมือนกัน อย่าพึ่งปิดกั้นตัวเอง ลองให้โอกาสตัวเองและเริ่มลงมือทำ