Loading...

อาจารย์แพทย์ ธรรมศาสตร์ ชี้ ‘เคนมผง’ ศูนย์รวมยาออกฤทธิ์ ‘หยุดหายใจ’

 

อาจารย์แพทย์ ธรรมศาสตร์ แจงยิบฤทธิ์ ‘เคนมผง’ ระบุล้วนประกอบขึ้นมาจาก “ยากดประสาท-สารเสพติด” ที่ออกฤทธิ์กดการหายใจ หัวใจหยุดเต้น

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2564

     รศ.นพ.ณรงค์กร ซ้ายโพธิ์กลาง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ข้อมูลการตรวจพิสูจน์ยาเสพติด “เคนมผง” จากของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดมาได้นั้น พบว่ามีด้วยกันอย่างน้อย 2 สูตร ซึ่งทั้งสองสูตรนี้ล้วนแต่มีส่วนประกอบของยากดประสาทและสารเสพติด ซึ่งหากได้รับเกิดขนาดจะทำให้หยุดการหายใจ หัวใจหยุดเต้น และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

     สำหรับสูตรที่ 1 ประกอบด้วย เคตามีน (ketamine) และไดอะซีแพม (diazepam) โดย “เคตามีน” หรือยาเค เป็นยากดประสาทและยาแก้ปวดที่ใช้ทางการแพทย์ มักเป็นชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ เช่น ก่อนการใส่ท่อช่วยหายใจ มีผลทำให้กดการหายใจ หลงลืมจำไม่ได้ หลอดลมขยายตัวจากการหลั่งสาร catecholamines อาจทำให้หัวใจกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นระบบประสาท sympathetic รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูงอีกด้วย

     ทั้งนี้ หากได้รับเคตามีนเกินขนาดมักทำให้ประสาทหลอน โคม่า กดการหายใจจนหยุดหายใจ ความดันโลหิตลดลงจนเกิดภาวะช็อก หัวใจเต้นช้าจนทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ซึ่งผลของการหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

     ขณะที่ “ไดอะซีแพม” เป็นยากดประสาทและยานอนหลับที่ใช้ทางการแพทย์ อยู่ในกลุ่มยา Benzodiazepine ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับอัลฟาโซแลม (Alprazolam) หรือ "ยาเสียสาว" โดยยาชนิดนี้มีทั้งที่รับประทานและยาฉีด มักใช้ภายใต้คำสั่งการรักษาของแพทย์ เช่น โรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล แพนิค ภาวะชัก ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเหนื่อย หากได้รับเกินขนาดมักกดการหายใจจนหยุดหายใจ โคม่าเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

     สำหรับสูตรที่ 2 ประกอบด้วย เคตามีน เฮโรอีน และยาอี ซึ่ง “เฮโรอีน” เป็นสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ (opioids) โดยสารโอปิออยด์มักทำให้เกิดกดการหายใจ กดระบบประสาททำให้ไม่รู้สติ ซึมลง รูม่านตาเล็กลง ท้องอืดจากลำไส้ไม่เคลื่อนไหว ดังนั้นหากได้รับเฮโรอีนเกินขนาดมักกดการหายใจจนหยุดหายใจ อาจชัก โคม่าเป็นเหตุให้เสียชีวิต นอกจากนี้เฮโรอีนอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพที่สมอง เรียกว่า “Heroin leukoencephalopathy” ได้ด้วย

     ในส่วนของ “ยาอี” เป็นสารเสพติดที่มีสาร MDMA หรืออาจเรียกว่ามอลลี่ (Molly) ในอดีตยาอีนำมาใช้รักษาโรคทางจิตเวช มีผลกระตุ้นระบบประสาทและสมอง แต่ไม่กดระบบการหายใจ ทำให้เกิดการตื่นตัว กระสับกระส่าย รู้สึกเคลิบเคลิ้มจากการกระตุ้นการหลั่งสาร catecholamines ในร่างกายของผู้ใช้ยา นอกจากนี้ยังทำให้มีอาการเพ้อ เหงื่อออก ตามัว อุณหภูมิกายเพิ่มขึ้นคล้ายมีไข้ อาจเกิดภาวะชัก กล้ามเนื้อสลาย ความดันโลหิตสูงขึ้น ใจสั่นอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

     “จากส่วนประกอบดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นยาเคนมผงสูตรใดก็ล้วนแต่มีสารหลายชนิดที่ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์กดการหายใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตตามที่ปรากฏเป็นข่าวจำนวนมาก” รศ.นพ.ณรงค์กร กล่าว

     อนึ่ง เคตามีน เฮโรอีน และยาอี เป็นยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562) ส่วนไดอาซีแพม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559