Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ จัดงาน ‘เชิดชูเกียรตินักวิจัย 2566’ บทพิสูจน์ความสำเร็จของผลงานวิจัย-นวัตกรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณคณาจารย์และนักวิจัยของธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย กองบริหารงานวิจัย มธ. และสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณคณาจารย์และนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก และสามารถคว้ารางวัลได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธี และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรประจำคณะ/หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งครอบครัวของผู้ได้รับรางวัลฯ เข้าร่วมแสดงความยินดี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลด้านการวิจัยเป็นจำนวนมากทั้งประเภทผลงานและประเภทบุคคล ซึ่งเป็นผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่สร้างประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นผลงานวิจัยในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพและปากท้องของประชาชน ซึ่งผลจากการศึกษาล้วนแล้วแต่ถูกนำไปเผยแพร่และตีพิมพ์ให้แก่ประชาชนในทั่วทุกมุมโลกได้รับรู้ และนำไปเป็นแนวทางต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่บุคคลในทุกระดับ

     การดำเนินงานของประชาคมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงปณิธานอันเป็นหัวใจหลักสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน “Thammasat for the People” ซึ่งยังคงฝั่งอยู่ในรากลึกและจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์รุ่นต่อรุ่น

     “ผมอยากให้ทุกท่านร่วมกันรักษาอุดมการณ์ ร่วมกันดูแลมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รัก สร้างคนธรรมศาสตร์ที่กล้าหาญและผลิตผลงานที่หลากหลาย สร้างประโยชน์ต่อสาธารณชนเพื่อให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป” นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้ามพรมแดนการแข่งขันที่สูงขึ้นในระบบการศึกษา การเปลี่ยนแปลงของโลก และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เป็นแต่เพียงผู้ก้าวทันเท่านั้น แต่ยังเป็น “ผู้นำ” ที่สามารถกำหนดทิศทางการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยและนานาชาติ ดังนั้นในฐานะที่ทุกท่านเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ จึงเปรียบเสมือนมือเล็ก ๆ ที่ต้องช่วยกันสร้างให้เป็น “ธรรมศาสตร์” ได้อย่างแท้จริง และดำรงตนเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนโดยส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรับใช้สังคมด้วย

     จากการดำเนินงานวิจัยในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางวิชาการ งานสร้างสรรค์ นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ทั้งเรื่ององค์ความรู้และทุนสนับสนุน โดยผลงานวิจัยทั้งหมดได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ตอกย้ำเป้าหมายความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง พร้อมส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ภายใต้แนวทางที่ท้าทายในการเชื่อมโยงองค์ความรู้สหสาขาวิชา เพื่อให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

     สำหรับนักวิจัยที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 90 ท่าน โดยแบ่งออกเป็น 9 ประเภทรางวัล ได้แก่

     1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2565 จำนวน 1 ท่าน

     2. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต จำนวน 1 ท่าน

     3. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 17 ท่าน

     4. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 1 ท่าน

     5. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 1 ท่าน

     6. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 8 ท่าน

     7. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่เกิน 20 ล้าน จำนวน 15 ท่าน

     8. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 12 ท่าน

     9. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 34 ท่าน

สามารถดูรายชื่อของนักวิจัยทั้งหมดได้ที่ https://online.pubhtml5.com/apif/icpd/