Loading...

เด็ก ‘SIIT ธรรมศาสตร์’ คว้าแชมป์ประเทศไทย เขียนโปรแกรมควบคุม ‘หุ่นยนต์ NASA’

นักศึกษา SIIT คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศ NASA เตรียมเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติ ช่วงเดือน ต.ค.นี้

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน ในชื่อทีม Galactic4” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศแอสโตรบี (Astrobee) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ภายใต้โครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge” ซึ่งประกาศผลการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566

     โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และหน่วยงานพันธมิตร จัดการแข่งขันเพื่อแสวงหา “ตัวแทนทีมเยาวชนประเทศไทย” เข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเดือนตุลาคม 2566

     สำหรับการแข่งขันในโครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge” มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 182 ทีม โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ด้วยภาษา JAVA เพื่อควบคุมการทำงานของ

     หุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งทีม “Galactic4” จาก SIIT ธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ, เดชาธร ดาศรี, กษิดิศ ศานต์รักษ์ และ ชีวานนท์ ชุลีคร สามารถคว้าแชมป์ได้สำเร็จ รับรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และจะเป็นตัวแทนทีมเยาวชนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์นานาชาติ กับทีมจากประเทศสมาชิก Kibo-ABC อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ

     ณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ SIIT ในฐานะหัวหน้าทีม Galactic4 เปิดเผยว่า โจทย์ของการแข่งขันเป็นภารกิจเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบจำลอง (Simulation) เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ในการแก้ไขสถานการณ์จำลอง เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลภายในสถานีอวกาศ ซึ่งเขียนโปรแกรมโดยใช้ภาษาพื้นฐานอย่าง JAVA ที่มีการเรียนการสอนใน SIIT ช่วงชั้นปีที่ 1

     ณัฐวินทร์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว ส่วนตัวทราบข่าวการเปิดรับสมัครจากผู้ปกครอง จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมชั้นปี 2 SIIT ธรรมศาสตร์ เพื่อทดลองนำสิ่งที่เรียนมาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง โดยเริ่มต้นจากการวางแผนงานกันคร่าว ๆ และใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมแบ่งงาน ซึ่งแต่ละคนจะเขียนโปรแกรมในส่วนของตัวเอง ก่อนจะนำมาประกอบกันเพื่อส่งเข้าทดสอบในระบบ Simulation จนเมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาแล้วก็จะนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ

     “ความจริงแล้วงานของเราเสร็จและใช้งานได้ตั้งแต่ภายในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการแข่งขัน ซึ่งแม้ผลจะออกมาค่อนข้างดีแล้ว แต่เราก็คิดว่ายังดีได้อีกจึงมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงช่วงสุดท้ายของการส่งผลงาน” ณัฐวินทร์ ระบุ

     ณัฐวินทร์ กล่าวว่า ทีม Galactic4 ตั้งใจจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ที่สุดในฐานะตัวแทนประเทศไทย จากนี้จึงจำเป็นต้องจัดการตารางเวลาฝึกซ้อม พร้อมทั้งศึกษาและปรับตัวให้เข้ากับโจทย์กติกาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าอาจต้องมีความเหนื่อยมากขึ้น แต่ก็เป็นกำลังใจในด้านบวกที่เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของการเปิดประสบการณ์ใหม่

     ณัฐวินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา JAVA แม้จะเคยศึกษาและพอมีความรู้พื้นฐานเรื่องนี้ในเบื้องต้น แต่ก็ได้รับการเสริมทักษะเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการเรียนการสอนในคณะ และอีกปัจจัยสำคัญนั่นคือความสามัคคีในการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก ซึ่งภายในรั้ว SIIT ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ได้มารู้จักกับกลุ่มเพื่อนในทีม ที่ล้วนมีลักษณะนิสัยของการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกัน โดยต่างคนต่างมีทักษะและความสามารถซ่อนเอาไว้ รอให้นำออกมาใช้งานจริงได้ อย่างเช่นกับการแข่งขันในครั้งนี้

     “งานนี้เราทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ หากจะต้องใช้ความสามารถและแรงพลังจากสมาชิกทุกคน ขณะเดียวกันเราไม่ประมาทตัวเอง ไม่ประมาทในตัวเกม กติกา คือถ้าเราจะหยุดตั้งแต่ตอนที่เขียนเสร็จในครั้งแรก และคิดว่ามันดีแล้วก็ได้ แต่เมื่อเราคิดว่ายังทำได้ดีกว่านี้ อยากนำหน้าคนอื่นขึ้นไปอีก เราจึงทำมันต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงท้ายสุดเท่าที่เป็นไปได้” ณัฐวินทร์ กล่าว

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ได้จัดการแข่งขันโครงการ “The 4th Kibo Robot Programming Challenge” รอบชิงแชมป์นานาชาติ ณ ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น โดยมี ดร.ซาโตชิ ฟุรุกาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่น ทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขันอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เพื่อค้นหาสุดยอดทีมเยาวชน ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee โดยมีตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

     โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีม “Galactic4” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ให้สามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ โดยได้คะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่ 3 ของการแข่งขัน