Loading...

เปิดพื้นที่สะท้อนแนวคิด “ป๊อปคัลเจอร์” ผ่านพัฒนาการการศึกษาและมุมมอง “สื่อศึกษา”

คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “ป๊อปคัลเจอร์ ... ไม่แคร์เวิลด์” เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี การสถาปนาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

 

          เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี การสถาปนาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์ฯ จึงได้จัดเสวนา “ป๊อปคัลเจอร์ ... ไม่แคร์เวิลด์” เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ณ ห้อง JM 402 คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรและเครือข่ายทางวิชาการสำคัญ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะรัฐศาสตร์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน (MA)

          ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวว่า คณะฯ ได้ผลิตและสร้างสรรค์วิทยานิพนธ์ร่วมกับคณาจารย์ในการสะท้อนวัฒนธรรมหรือบริบททางการสื่อสารในสังคมของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ป๊อปคัลเจอร์” ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถนำเสนอในการวิจัยโดยวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารในแง่มุมที่ครบเครื่องหลากหลายซึ่งในครั้งนี้มีวิทยานิพนธ์ดีเด่น มีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมในเรื่องของการสั่งสมทุนทางวัฒนธรรมของนักร้องเพลงใต้ การพุดคุยของแฟนคลับนักร้องเพลงป๊อปที่สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลง การสื่อสารตัวตนของคนรุ่นใหม่ Gen Y ในเฟซบุ๊ก เรื่องราวของผู้หญิงในมิติต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาได้ศึกษาวิเคราะห์โดยนำศาสตร์ต่าง ๆ มาบูรณาการได้เป็นอย่างดี ทั้งแนวคิดทฤษฎีทางการสื่อสาร และแนวคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในลักษณะบูรณาการ ซึ่งทำให้เห็นว่าความรู้ด้านการสื่อสารนั้นสามารถนำมาผนวกกับความรู้ด้านศาสตร์ต่าง ๆ ได้แล้วนำมาอธิบายและแก้ไขชี้แนะทางออกให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน (MA) ได้พยายามพัฒนาให้มีการเติบโตมีการปรับประยุกต์เนื้อหาแนวทางการเรียนการสอนให้มี ความทันสมัยอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเพื่อให้นักศึกษาได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสื่อ (Media Disruption) นำมาพัฒนาในเรื่องของหลักสูตรเพื่อนำไปประยุกต์ปรับใช้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

          ด้าน รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “พัฒนาการความคิดเรื่อง Popular และ Politics of the Popular” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเสวนาครั้งนี้ว่า เป็นสิ่งที่ประชาชน และสังคม ยอมรับสนใจเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมและถือเป็นการสลายชนชั้นทางสังคม วิถีป๊อปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมความบันเทิงและการพาณิชย์ที่แพร่กระจายไปทั่ว เป็นวิถีแห่งการทำเงินมหาศาล (Blockbuster) วิถีแห่งการต่อสู้เรื่องสิทธิตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ภายใต้อุดมการณ์หลากหลายของวัฒนธรรม วัฒนธรรมป๊อปเป็นวิถีชีวิตสำคัญของวัยรุ่นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (Babyboom Generation) ได้รับความนิยมจากมวลมหาชน และค่อย ๆ สลายคุณลักษณะทางชนชั้น

          “ในแวดวงวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ โทรทัศน์อาจกล่าวได้ว่าเป็น Mass Culture ที่ทรงพลังถูกนำไปเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการค้า การลงทุน เป็นวิถีด้านการตลาดที่สำคัญจนเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่มีอิทธิพลอย่างมาก” รศ.ธเนศ กล่าวในเวทีเสวนา

          นอกจากนี้ รศ.ธเนศ ยังตั้งข้อสังเกตถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ส่งผลต่อวิธีคิดของคนรุ่นใหม่โดยยกตัวอย่างกรณีของ Greta Thunberg ตัวแทนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 จากนิตยสาร Time (Person oh The Year 2019) ที่สะท้อนปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนส่งผลต่อผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยมองปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นการเรียกร้องที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้คนรุ่นเก่าเกิดความตระหนักเป็นการต่อสู้ระหว่างช่วงวัยที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การสำนึกโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Warming) เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อปัจจุบันเข้ากับอนาคตสะท้อนผ่านช่วงวัย (Generation) ที่มีอนาคตและมีชีวิตที่ยาวไกล เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมในการรณรงค์ของคนรุ่นใหม่

          ในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมป๊อป รศ.ธเนศ กล่าวว่า การใช้อินเทอร์เน็ตของคนในยุคปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้เชิงพาณิชย์เป็นเหรียญอีกด้านของวัฒนธรรมสงครามภายใต้วิถีแห่งความสงบของรัฐตำรวจอเมริกันซึ่งทุกคนล้วนถูกจับตาตรวจสอบ (Surveillance) นอกจากนี้การจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยถูกครอบงำด้วยทุนนิยมพูดภาษาอังกฤษทำให้มองไม่เห็นในมิติอื่นซึ่งพบได้จากการถูกครอบคลุมบนพื้นที่การใช้อินเทอร์เน็ต

          ด้าน รศ.ดร.สมสุข หินวิมาน ประธานหลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาชาวิชาสื่อสารมวลชน (MA) กล่าวบรรยายพิเศษ “ป๊อปคัลเจอร์ในโลกของสื่อศึกษา” ว่า สาเหตุที่สื่อศึกษาสนใจในเรื่องป๊อปคัลเจอร์ เพราะวัตถุดิบหรือข้อมูลที่สาขาวิชานี้สนใจโดยภาพรวมเป็นป๊อปคัลเจอร์ชนิดหนึ่งแต่อาจไม่ได้เรียกว่าป๊อปคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมประชานิยม แต่อาจเรียก Popular Media หรือ Mass Media หรือสื่อสารมวลชนก็เป็นป๊อปคัลเจอร์ชนิดหนึ่ง แต่ท่วงทีและพัฒนาการอาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แนวโน้มการศึกษาป๊อปคัลเจอร์ของกลุ่มวิชาสื่อศึกษาหากพิจารณาในเรื่องคุณลักษณะอาจวัดได้ 3 มิติ กล่าวคือในเชิงปริมาณ วิถีป๊อปจะมีการผลิตและเกิดการบริโภคมหาศาล มีคนเสพเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เมื่อมองในเชิงเวลาเป็นสิ่งร่วมสมัยมาเร็วไปเร็ว และในเชิงคุณภาพเป็นสิ่งต่ำต้อยในเชิงรสนิยมแต่มีพลังล้นเหลือ เมื่อพิจารณาถึงคำว่า “ป๊อป” ซึ่งมีรากฐานมาจากคำว่า Popular ซึ่งเป็นของประชาชนทั่วไปแตกต่างจากอะไรก็ตามที่เป็นวัฒนธรรมสิ่งนั้นจะต้องดีที่สุด

          “หลายคนอาจเป็นมองว่าป๊อปคัลเจอร์เป็นเรื่องที่ศึกษาไปทำไม เป็นเรื่องไม่มีรสนิยม แต่ความจริงแล้วเนื้อในของป๊อปคัลเจอร์เป็นวิธีคิดที่ตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้น” รศ.ดร.สมสุข กล่าวเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาดังกล่าวคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จัดการนำเสนอวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน (MA) ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดป๊อปคัลเจอร์ 6 เรื่อง ประกอบด้วย พัฒนาการชีวิตและกระบวนการสร้างทุนวัฒนธรรมของเอกชัย ศรีวิชัย, นุช : เครือข่ายการสื่อสารแฟนคลับผลิตโชค อายนบุตร บนสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์, การสื่อสารอัตลักษณ์ของ  เจเนอเรชันวายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ กรณีศึกษาเฟซบุ๊ก, การปรุงอำนาจผ่านความรื่นรมย์ในการทำอาหารของผู้หญิงในภาพยนตร์, ภาพความเป็นชายในโฆษณาเครื่องสำอางเกาหลีสำหรับผู้หญิง และช่างสักผู้หญิง : การสื่อสารและการสั่งสมทุนวัฒนธรรมในอาชีพช่างสัก โดยได้รับเกียรติการวิพากษ์โดย รศ.ดร.กำจร หลุยยะพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์