Loading...

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา ร่วมเปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ ปี 2563 "สู่พรมแดนใหม่: การพัฒนามนุษย์ในยุคแอนโทรโพซีน"

วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNPD) เปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2563

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2563

  

 

     วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNPD) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2563 ภายใต้หัวข้อ "สู่พรมแดนใหม่: การพัฒนามนุษย์ในยุคแอนโทรโพซีน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้

     โดย คุณโลวิต้า รามกุทธี รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้นำเสนอข้อมูลวิเคราะห์ที่สำคัญจากรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2563 “สู่พรมแดนใหม่: การพัฒนามนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีน” พร้อมทั้งมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นถึงประเด็นต่าง ๆ จากรายงาน นำโดย คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นผู้เปิดการเสวนา โดยมี ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมวงเสวนา

     การเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นมีการหารือหลากหลายประเด็น อาทิ การกระทำของมนุษย์ในยุคแอนโทรโพซีนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร และมนุษย์มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างเป็นมิตรท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน ภายใต้บริบทประเทศไทยผ่านการแลกเปลี่ยนจากผู้ร่วมเสวนาบนเวทีนี้จากมุมมองต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการศึกษา

     ทั้งนี้ รายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2563 “สู่พรมแดนใหม่: การพัฒนามนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีน” เป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ต่อดัชนีการพัฒนามนุษย์ คือ Planetary pressures-adjusted HDI (PHDI) หรือ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยตัวชี้วัดเพิ่มอีก 2 ตัว ได้แก่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และค่าฟุตพริ้นท์วัสดุ (Material Footprint) และดัชนี PHDI จะช่วยให้เห็นภาพรวมของโลกในรูปแบบใหม่ซึ่งมีความสวยงามน้อยลงแต่ชัดเจนมากขึ้น ในการประเมินความก้าวหน้าของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ดัชนีนี้ชี้ให้เห็นว่ามากกว่า 50 ประเทศหลุดออกจากกลุ่มประเทศ ที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงหรือระดับสูงมาก หากคำนึงถึงการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเกิดฟุตพริ้นท์ วัสดุจากประเทศของตน

     พรมแดนใหม่แห่งการพัฒนามนุษย์จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ ไม่ใช่การทำลายธรรมชาติ โดยมีการแปลงเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยมรวมถึงแรงจูงใจของรัฐบาลและมาตรการจูงใจด้านการเงินไปพร้อมกัน