Loading...

สถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับองค์กรเครือข่ายวิชาการ จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และประณีตศิลป์แห่งโขน”

 

สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2565

     เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” พร้อมด้วยนางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผศ.ดร.เสาวธาร​ โพธิ์กลัด​ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา       ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ทรงวุฒิด้านงานเครื่องโขนและจิตรกรรมไทยเข้าร่วม ณ ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ

     ผศ.ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และประณีตศิลป์แห่งโขน” จัดขึ้นเพื่อนำเสนอคุณค่าของ “เครื่องโขน” ทั้งงานโบราณและงานร่วมสมัยโดยช่างฝีมือเครื่องโขนโบราณแต่ละท่านมีเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานในแบบฉบับของตนเอง ขณะเดียวกันช่างฝีมือเครื่องโขนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ศีรษะโขนและออกแบบเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ แต่ยังคงอิงลวดลายที่เป็นประเพณีไทยดั้งเดิมอยู่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะอันงดงามประณีตโดยเฉพาะลวดลายและวิธีการสร้างสรรค์งานของคนรุ่นเก่า สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่มีใจรักการแสดงโขนและงานศิลปวัฒนธรรมไทย

     ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เผยว่า ภายในงานจัดแสดงเครื่องโขนโบราณในส่วนของศีรษะโขนที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ “ศีรษะกุมภกรรณ” หน้าทองแดงซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จ.เชียงราย อายุ 135 ปี “เศียรพระคเณศ” ผลงานของครูชิต แก้วดวงใหญ่ และศีรษะโขนในตำนาน คือ“ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว” ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และ“ศีรษะหนุมานหน้ามุก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นของกรมมหรสพมาแต่เดิม รวมทั้งเครื่องประดับโขนโบราณสมัยรัชกาลที่ 6 ชุดห้อยหน้ารูปหัวกะโหลกพระคเณศและเครื่องแต่งกายโขนโบราณชุดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเครื่องโขนโบราณงานฝีมือชั้นครูอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี

     นอกจากนี้ ยังมีงานร่วมสมัยที่นำมาจัดแสดง อาทิ งานออกแบบเครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2543 “เศียรฤาษีวาลมีกิ” ผลงานของนายนิรันดร์ ยังเขียวสด ซึ่งฤาษีวาลมีกินี้นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็นผู้แต่งเรื่องรามายณะขึ้นเป็นคนแรก ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวนของอาจารย์หทัย บุนนาค และงานชิ้นที่สำคัญคือ ผ้าห่มนางกรองทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูงานช่างโบราณด้วยวิธีถัก ปักและสอดปีกแมลงทับ นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของยุคปัจจุบัน รวมถึงผลงานของครูและศิษย์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตรัตนโกสินทร์  โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ร่วมจัดแสดงรวมทั้งหมดกว่า 100 ผลงาน