Loading...

ค่ายสาสุขอาสาพัฒนาชนบท เมล็ดพันธุ์คนธรรมศาสตร์ สืบสานปณิธานมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมสาสุขอาสา พัฒนาชนบท ปีที่ 7 ตอน ลูกโดมอาสา พัฒนาน้ำพอง ณ บ้านห้วยไผ่ หมู่ที่ 1 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566

     คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายและพันธกิจในการมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ รักประชาชน เพื่อตอบสนองต่อปณิธานของมหาวิทยาลัย คือ การเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” และตอบโจทย์ปณิธานของคณะฯ คือ “คณะสาธารณสุขศาสตร์เพื่อสังคม” ในการนำความรู้ทางด้านสาธารณสุขไปบริการประชาชน

     โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้กำหนดจัดกิจกรรมสาสุขอาสา พัฒนาชนบท ปีที่ 7 ตอน ลูกโดมอาสา พัฒนาน้ำพอง ระหว่างวันที่ 3 – 8 มกราคม 2566 ณ บ้านห้วยไผ่ หมู่ที่ 1 ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

     ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ นักศึกษาจะได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และสามารถนำความรู้ทางด้านสาธารณสุขไปใช้ในการปฏิบัติจริง ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนในชุมชน รวมทั้งถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักศึกษาและชุมชนในด้านวิชาการ วิชาชีพ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสร้าง “นักสาธารณสุข” และการเป็นองค์กรผู้น้าด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโลก

     จากการสำรวจพื้นที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ประยุกต์ใช้เครื่องมือการลงชุมชนทางด้านสาธารณสุขเบื้องต้น นำมาวิเคราะห์ปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน จวบจนได้นำมาวางแผนการจัดกิจกรรม ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน อันก่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาให้สามารถหาวิธีแก้ไขและพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน โดยกำหนดพื้นที่ทำกิจกรรม คือ โรงเรียนบ้านห้วยไผ่หนองโน และพบว่ามีประเด็นที่ท้าทาย และมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสุขภาพ อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

     ดังนั้นควรต้องได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสำหรับการใช้งานและเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน ได้แก่ กิจกรรมบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิชาชีพสาธารณสุข อาทิ 1. กิจกรรม “สร้างห้องสุขา” โดยการซ่อมแซมห้องสุขาของโรงเรียน ให้พร้อมต่อการใช้งานและถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

     2. กิจกรรม “ปรับปรุงห้องพยาบาล” พร้อมจัดหาและส่งมอบอุปกรณ์ภายในห้องพยาบาล เช่น เตียง ตู้ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และยาสามัญสำหรับบรรเทาอาการเบื้องต้น 3. กิจกรรม “วาดลานสนุก สร้างสุขให้น้อง” ปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการทาสีใหม่ให้สดใสน่าวิ่งเล่น ออกแบบเกมบนพื้นที่ของลานสวนสนุก 4. กิจกรรม “โต๊ะสีใหม่ ถาดหลุมเพื่อเด็ก ให้น้องตัวเล็ก อิ่มเสร็จอินแคนทีน” รวมทั้งมอบถาดหลุมสำหรับใส่อาหาร เพื่อให้มีถาดอาหารเพียงพอต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียน

     5. กิจกรรม “ต้นไม้ของพี่ เพื่อสวนของน้อง” ปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณลานกิจกรรมให้สวยงาม 6. กิจกรรม “หนังสือคัดสรร แบ่งปันความรู้” โดยจัดห้องสมุดและมุมอ่านหนังสือให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งจัดหาหนังสือต่าง ๆ 7. กิจกรรม “คิดดี Kid’s Day” เป็นการจัดกิจกรรมวันเด็ก เพื่อมอบความสุขและรอยยิ้ม ให้กับนักเรียนและเด็ก ๆ ในชุมชน พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การใช้ห้องสุขา และการส่งเสริมสุขภาพเพื่อการมีสุขภาพที่ดี

     8. กิจกรรม “ชุมชนจิตแจ่มใส หัวใจเบิกบาน” โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ศูนย์สุขภาพจิตที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการลงพื้นที่ทำกิจกรรม “สร้างสุข 5 มิติ” ในเด็กวัยเรียน วัยทำงานที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แกนนำ อสม. และกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิต ให้มีสุขภาพจิตที่ดี ป้องกันภาวะ “เครียด” ที่อาจจะนำไปสู่การป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

     9. กิจกรรม “ชุมชนปลอดภัย ห่างไกล NCDs” โดยการลงชุมชนเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง พร้อมทั้งให้ความรู้กับประชาชนแต่ละครัวเรือน ให้มีแนวทางปฏิบัติตนและดูแลคนในครอบครัวเพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต

     10. กิจกรรม “น้ำพอง ลองแยก (ขยะ)” เป็นกิจกรรมที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้ง “กองทุนขยะในโรงเรียน” สำหรับให้คนในชุมชนน้ำขยะประเภทขวดพลาสติกหรือขยะรีไซเคิลอื่น ๆ ที่คัดแยกไว้มาแลกถุงขยะของทางเทศบาล ซึ่งผู้ดูแลกองทุนจะนำขยะที่คนในชุมชนมาแลกไปขาย และนำเงินที่ได้ไปซื้อถุงขยะของเทศบาล สำหรับให้คนในชุมชนนำขยะมาแลก ส่วนเงินที่เหลือเข้ากองทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในโรงเรียน นอกจากนั้น ยังวางแผนจัดจุดทิ้งขยะแยกประเภทภายในโรงเรียนบ้านห้วยไผ่หนองโน เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนทิ้งขยะได้ถูกต้องตามประเภท รู้วิธีการคัดแยกขยะและการจัดการขยะที่ถูกต้อง

     นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างกิจกรรม “เสน่ห์บ้านห้วยไผ่ สานใจล้าน้ำพอง” ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน เช่น การทอเสื่อจากต้นธูปฤาษี การทำบุญตักบาตร พิธีกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

     ชนัยชนม์ นาราษฎร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดกิจกรรมฯ กล่าวย้ำอีกว่า นอกเหนือจากการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมแล้ว ยังฝึกให้นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีความเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี คิดอย่างเป็นระบบ แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีจิตสาธารณะ สำนึกรับผิดชอบอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นนักสาธารณสุขที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเป็นคุณลักษณะ GREATS ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญเสมอมา และเป้าหมายปลายทาง นั้นคือ ประชาชนในพื้นที่มีองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง และคนรอบข้าง รวมทั้งมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น