Loading...

‘สถาปัตยกรรมประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำ’ หลักคิดของอาจารย์ มธ. กับผลงานออกแบบพื้นที่นำร่อง สร้างชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน

ผลงานนวัตกรรมการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างมีพลวัต ของอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2566

     ‘ความยั่งยืน’ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาสังคม และสภาพแวดล้อม อันสืบเนื่องจากผลกระทบต่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การขยายตัวของเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงต้องหาหนทางใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถรักษาส่งต่อทรัพยากรเหล่านั้นให้คนรุ่นต่อไปได้ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ทรัพยากรทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่หมายรวมไปถึงทรัพยากรเชิงสังคมและวัฒนธรรม

     เราจะสร้างสรรค์พื้นที่ที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร?

     ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มแนวคิด สถาปัตยกรรมประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำ หรือ Low-cost Design Solution (LCDs) เพื่อสร้างพื้นที่ที่สามารถสร้างสรรค์ให้ชุมชน สังคม พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน สู่การพัฒนาในบริบทแห่งยุคสมัยใหม่ และสามารถนำมาปรับใช้กับศาสตร์ที่หลากหลายได้ มิใช่เพียงงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น อาจหมายรวมถึงการพัฒนาบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ได้เช่นเดียวกัน

     หัวใจหลักของทฤษฎี Low-cost Design Solution (LCDs) คือการให้แนวคิด เปิดมิติของการมองให้เห็นในสิ่งที่คนอื่น (มัก) มองไม่เห็น และสามารถสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการใช้ต้นทุนต่ำ เป็นหลักคิดที่สามารถปรับไปใช้กับทุกวิชาชีพ เหมาะกับการแบ่งปัน คืนประโยชน์แก่สังคม ในเบื้องต้นทฤษฎี LCDs ได้ตอบโจทย์ประเด็นปัญหาด้านสถาปัตยกรรมโดยตรง เป็นการพัฒนาเชิงบูรณาการผลงานนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่แบบข้ามศาสตร์

ความสำคัญของ ‘ความยั่งยืนอย่างมีพลวัต’ กับการออกแบบ

     ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ อธิบายว่า ในมิติของความยั่งยืนนั้น มีความนิ่งอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องตื่นรู้ และตื่นตัวตลอดเวลา สังคมได้รับผลกระทบโดยตรงจากเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมเสมือน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันลดน้อยลง ดังนั้น การทำให้สิ่งต่าง ๆ ยั่งยืนได้ ก็ต้องปรับตัว เช่น การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้ข้อมูลด้านสังคม ศิลปวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง รวมถึงการผลิตสื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น เหล่านี้ เป็นต้น

     “คุณจะต้องตื่นรู้ตลอดเวลา มีการเข้าใจตัวเอง เตรียมพร้อมตั้งรับในการที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ผมอยากให้ทุกอย่างเป็นความยั่งยืนอย่างมีพลวัต เพราะอะไรก็ตามถ้าเราอนุรักษ์มันไว้เฉย ๆ มันก็ตายได้ แตะต้องไม่ได้ ก็ไม่มีใครสืบสาน ซึ่งงานออกแบบเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่สามารถสร้างพื้นที่ สร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างมีพลวัตได้” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าว

     ‘ถ้าเราไปรักมันอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องรักษา สร้างเพิ่ม นั่นแหละคือความยั่งยืน...’

     ตัวอย่างผลงานนำร่องของ ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ ที่นำแนวคิด LCDs มาปรับใช้และสามารถคว้ารางวัลเวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ

ผลงาน NORA PURA A Sustainable Community with LCDs Design Approach

     จากต้นแบบของชุมชุมแห่งการพึ่งตนเอง เรียงร้อยถักทอวิถีด้วยศาสตร์แห่งโนราสู่การพัฒนาสังคมเข้มแข็งที่ยั่งยืนอย่างมีพลวัต เป็นผลงานนวัตกรรมที่มุ่งสร้างคุณูปการสู่สังคม โดยการนำหลักการของ สถาปัตยกรรมประโยชน์สูงสุดต้นทุนต่ำ (LCDs) มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบ

     ศาสตร์ของ ‘โนรา’ มรดกทางวัฒนธรรมของโลก ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อทางพุทธศาสนา อันปรากฏบนท่วงท่าการรำ บทเพลง รวมไปถึงความแน่นแฟ้นของโครงสร้างสังคมชุมชนโนรา ที่มีความสามัคคี ช่วยเหลือ พึ่งพากันและกัน

     “ผมอยากให้ศาสตร์ของโนรา เป็นต้นแบบในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งหล่อหลอมจากศิลปวัฒนธรรม ที่เน้นการพึ่งพาตนเองผ่านการช่วยเหลือกันในชุมชน สร้างศาสตร์ของการอยู่ร่วมกัน” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าว

     NORA PURA คือการออกแบบ และสร้างนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง บนพื้นที่ 4 ไร่ ณ โครงการ โนราปุระ ต.ท่าแค จ.พัทลุง โดยคณะมโนราห์เกรียงเดช ให้เป็นเมืองมโนราห์ รังสรรค์พื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นที่ทำมาหากิน สร้างพื้นที่ในการสืบสานโนราอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านการเป็นศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต (living environment)

     สถาปัตยกรรมที่ออกแบบในพื้นที่ NORA PURA จึงเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ แบ่งออกเป็นโซนพื้นที่ใช้สอยเพื่อการประกอบอาชีพและโซนสำหรับการศึกษาเรียนรู้เรื่องศาสตร์ของมโนราห์โดยตรง ตัวอย่างเช่น พื้นที่ Living NORA Gallery เรียนรู้วิถีของโนราที่มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม การออกแบบโรงละครโนรากลางแจ้ง ผสมผสานนวัตกรรมใหม่ให้การแสดงที่โนราปุระเหมือนได้นั่งชมที่โอเปร่าเฮ้าส์ เป็นต้น

          “ทุกอย่างต้องบูรณาการ แม้กระทั่งวิถีชีวิต ต้นไม้ทุกต้น กายภาพของพื้นที่ ตรงไหนเอื้อประโยชน์ให้ทำการเกษตรก็นำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำสถาปัตยกรรมแนวใหม่เข้ามาใช้ ตามหลักการพึ่งตนเอง ใช้วัสดุประเภท Low carbon ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดอย่าง 'Net Zero' หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต”

ผลงาน LCDsongkhla An Innovative PARK with Dynamic Sustainability

     งานออกแบบชิ้นนี้มาจากโจทย์ที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับคนสงขลาและพึ่งตัวเองได้ ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ จึงได้นำผลงานนวัตกรรมการออกแบบที่ผ่านมา ปรับประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยนำเสนอผ่านมิติทางสังคมวัฒนธรรมของชาวสงขลา เช่น การสร้าง ‘หลวงปู่ทวด’ ที่มีตำนานเรื่องการเหยียบน้ำทะเลจืด ผูกพันกับความเชื่อของชาวสงขลา ด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ sense of Lightness มิติทางนามธรรมสู่รูปธรรม ให้รูปปั้นของหลวงปู่ทวดมีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ดูเหมือนรูปปั้นลอยตัวเหนือน้ำจริง ๆ จากการใช้นวัตกรรมขั้นสูงในการออกแบบ โดยใช้วัสดุมวลเบา พ่นทับด้วยโพลียูเรีย (Polyurea) ซึ่งแข็งแรงแต่มีน้ำหนักน้อย คงทน อยู่นาน

     นอกจากนี้ ยังมีโซนจุดชมวิวเข้าไปดูนก จุดชมป่าโกงกาง ที่มีดีไซน์หลากหลาย วัสดุบางตัวเป็นแบบรีไซเคิล เน้นคาร์บอนต่ำ อย่างการนำวัสดุรีไซเคิลมาสร้างประติมากรรม SPIDER+CraB ให้คนมาถ่ายรูป และยังมีพื้นที่สาธารณะ Public Space เป็นโรงละคร จัดนิทรรศการ ดนตรีกลางแจ้ง ออกแบบจากนวัตกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

     “เราใช้ทฤษฎี LCDs มาขับเคลื่อนชุมชน สังคม เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าไปศึกษาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ก่อน ว่าสามารถนำหลักคิดดังกล่าวไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง แนวคิดนี้ไม่ใช่เทมเพลต หรืออาหารสำเร็จรูป มันต้องเข้าใจถึงเนื้อแท้ และต้องรู้จักสร้างทฤษฎีของตัวเองขึ้นมาประกอบ ด้วยศักยภาพของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม” ผศ.ดร.เขียนศักดิ์ กล่าว

     นวัตกรรมการออกแบบ NORA PURA และ LCDsongkhla An Innovative PARK เป็นพื้นที่นำร่อง ที่นำนวัตกรรมทางด้านสังคมบวกกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้นแบบเพื่อนำไปปรับใช้กับศาสตร์อื่น ๆ ในการเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง

     ผลงานการออกแบบดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ iCan 2023 ประเทศแคนาดา (The 8th Annual Edition of the International Invention Innovation Competition in Canada) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 95 ประเทศทั่วโลก

     โดย NORA PURA A Sustainable Community with LCDs Design Approach ‘โนราปุระ’ ได้รับรางวัลดังนี้

     1.รางวัลเหรียญทอง GOLD MEDAL

     2. รางวัล TOP 10 BEST INVENTION AWARD

     LCDsongkhla An Innovative PARK with Dynamic Sustainability ได้รับรางวัลดังนี้

     1.รางวัลเหรียญทอง GOLD MEDAL

     2. รางวัล Leading Innovation Award