Loading...

สำรวจความเจ็บปวดในวันวาน ผ่าน ‘ศิลปนิพนธ์ Pastra24’ 90 ปี ธรรมศาสตร์

นักศึกษาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ออกแบบชุดเสื้อผ้าสะท้อนเรื่องราวผ่านงานศิลปะ ในคอลเล็กชัน “Childhood Injury”

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     “เสียงฟันเฟืองลั่นเอี๊ยดเสียดก้องไปทั่วโรงงาน หยาดเหงื่อแรงงานปานปนผสมสนิม” คือสิ่งที่ถูกสะท้อนผ่านงานศิลปะการออกแบบชุดเสื้อผ้าของ ปภัสภรณ์ เหลืองไพศาลกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชื่อคอลเล็กชันว่า “Childhood Injury” หรือ ความเจ็บปวดในวันวาน

     นี่คือเสื้อผ้าของ “ผู้ใหญ่” ที่ถูกตัดเย็บโดยมีเสื้อผ้าของ ‘แรงงานเด็ก’ เป็นแรงบันดาลใจ โดยผลงานนี้ถูกนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการและแฟชั่นโชว์ “ศิลปนิพนธ์ Pastra24” เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     สำหรับแนวคิดการออกแบบ ตั้งต้นมาจาก ‘ประวัติศาสตร์’ และ ‘เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้หญิง’ อันเป็นความชื่นชอบของตัวศิลปิน ซึ่งเธอมองว่าทั้งสองส่วนนี้สามารถสื่อความหมายให้เห็นถึง ‘ความเป็นเด็ก’ และ ‘ความเซ็กซี่’ ได้อย่างแยบคาย

     ส่วนผสมที่ดูขัดกัน เมื่อนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกันแล้วกลับกลายเป็นความลงตัวที่สมบูรณ์แบบ ที่สำคัญก็คือช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘ประวัติศาสตร์แรงงานเด็ก’ (Child Labor History) ในประเทศแถบตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 ได้อย่างหมดจด

     เสื้อผ้าทั้งหมด 8 ชุดที่ ‘ปภัสภรณ์’ ออกแบบ จึงมีต้นแบบมาจากประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับยุควิคตอเรียน (ศตวรรษที่ 18 -19) แต่สามารถสวมใส่ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน เช่น กระโปรงจะไม่ใหญ่ ไม่มีคอร์เซ็ทรัดเอว เนื่องจากผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองในสมัยนั้นเลือกที่จะทำเอวสม็อคเพื่อให้เด็กใส่ได้เรื่อย ๆ

     มากไปกว่านั้นคือรายละเอียดในการตัดเย็บ ซึ่งจะไม่เหมือนกับเสื้อผ้าผู้ใหญ่ เพราะโดยปกติแล้วเสื้อผ้าผู้ใหญ่จะถูกทำให้สัดส่วนเว้าโค้งของร่างกายเข้าคอดมากที่สุด แต่สรีระของเด็กจะค่อนข้างสั้นกว่าทั้งช่วงไหล่ ช่วงอก และอื่น ๆ

     “ชุดทั้งหมดที่ออกแบบเป็นของผู้หญิงทั้งหมด โดยเราสโคปไปที่อุตสาหกรรมครัวเรือน ซึ่งโดยมากเป็นแรงงานเด็กผู้หญิง รวมถึงงานเกษตรกรรม เย็บผ้า ปักผ้าด้วย” ปภัสภรณ์ อธิบาย

     ปภัสภรณ์ อธิบายลงลึกถึงวัสดุที่นำมาใช้ประกอบการผลิตว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าลินิน และผ้าฝ้าย ประกอบกับวัสดุอื่น ๆ ที่ได้มาจากร้านขายของเก่า เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองแก้ว ผ้าม่าน ฯลฯ แล้วก็จะมีบางส่วนที่เป็นไม้ ส่วนลวดลายถูกย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น สนิม ดิน กาแฟ ชา ซึ่งช่วยขับเน้นให้สีรวมถึงกลิ่นอายให้สามารถบ่งบอกได้ถึงชะตากรรมที่แรงงานเด็กผู้หญิงต้องเผชิญ

     “ส่วนตัวตั้งใจให้สื่อถึงความเจ็บปวดของแรงงานเด็ก อย่างที่เห็นไม้ที่ดามชุด เราก็ตั้งใจเลียนแบบกรรมวิถีทางการแพทย์ของยุคนั้นตามประวัติศาสตร์ ที่เวลาเขาดามเฝือกจะใช้ผ้าลินินพันรอบตัว เพื่อให้เหมือนบาดแผลและกระดูกสมานกันไปเองตามธรรมชาติ และอีกความหมายที่ซ่อนอยู่คือภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบัน

     จริง ๆ นอกจากคาดหวังให้คนตระหนักเรื่องแรงงานเด็กแล้ว เรื่องฟาสต์แฟชั่นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยากให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะมันสร้างผลกระทบให้กับหลายส่วนมาก ทั้งสิ่งแวดล้อม แล้วก็การใช้งานแรงงานเด็กด้วย” ปภัสภรณ์ ขยายความ

     แน่นอนว่าก่อนที่ผลงานทั้ง 8 ชิ้นจะปรากฏสู่สาธารณะ เบื้องหลังย่อมเต็มไปด้วยความอุตสาหะ ระยะเวลา 6 เดือน คือห้วงเวลาแห่งการคิดและลงมือทำ

     เธอบอกว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้ประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารแหลมคมและเจาะจงมากที่สุด ตรงกับความสนใจมากที่สุด นั่นเพราะประวัติศาสตร์สามารถศึกษาได้หลากหลายแง่มุม การนำเสนอจำเป็นต้องสื่อความหมายให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อไม่ให้คนตีความจนเลยเถิดหรือตีความไม่ออก

     อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผลงานทั้ง 8 ชิ้นนี้ อยู่ภายใต้งานนิทรรศการและแฟชั่นโชว์ “ศิลปนิพนธ์ Pastra24” เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.วุฒิไกร ศิริผล หัวหน้าสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. บอกว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิดและสร้างสรรค์ผลงานมาโดยตลอด ที่สำคัญคือจะไม่มีการกำหนดกรอบว่าต้องทำอะไรหรือควรสนใจอะไร

     นั่นเพราะคิดว่านักศึกษาได้รับการติดอาวุธจากการเรียนรู้ทั้งจากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมาค่อนข้างมากแล้ว ฉะนั้นจึงควรให้สิทธินักศึกษาได้เลือก ส่วนหน้าที่ของคณาจารย์คือสนับสนุน

     “การมีเสรีภาพในการที่จะเลือกคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เขาอยากแสดงออกไปในรูปแบบไหน มองวิธีที่จะนำเสนอผลงานยังไงเป็นสิทธิของเขาที่จะเลือก ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้นักศึกษาจะสามารถนำไปใช้พัฒนาชิ้นงานของตัวเองในอนาคตได้ด้วย” อาจารย์ ดร.วุฒิไกร ระบุ

     สอดคล้องกับ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. ให้ภาพกว้างว่า งานศิลปนิพนธ์ 90 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความแตกต่างและโดดเด่น ทั้งในเรื่องเทคนิค แนวคิด และการสร้างสรรค์โดยใช้วัสดุเหลือใช้ รวมถึงผลงานแต่ละชิ้นมีการสื่อความหมายในเชิงปัญหาสังคมด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนสังคมในรูปแบบที่ไร้ความรุนแรง

     มากไปกว่านั้น ศิลปนิพนธ์ Pastra24 ยังเชื่อมร้อยเข้ากับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประเทศไทย

     ตัวอย่างเช่นผลงานชิ้นนี้ของนักศึกษาที่สอดคล้องกับหนึ่งในข้อย่อยของ SDGs ที่ 8 เรื่องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all) ที่ต้องการยับยั้งการจ้างแรงงานเด็กด้วย

     นอกเหนือจากผลงาน “Childhood Injury” แล้ว ยังมีผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ อีกมากกว่า 100 ผลงาน ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างทั้งเชิงไอเดียและการนำเสนอ หากแต่ทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกัน

     นั่นคือการแสดงออกถึงจิตวิญญาณของประชาคมธรรมศาสตร์ในฐานะ “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน”