Loading...

คณะวิทย์ฯ มธ. ร่วมกับ PETROMAT จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนาโน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ISNSC-12 และ TBioS-3

วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุ สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ และหลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ สาขาวิชาเคมี ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 12th International Symposium on Nano & Supramolecular Chemistry (ISNSC-12)  และ The 3rd Thailand Biorefinery Symposium (TBioS-3) ระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมดวงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

     ในวาระที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวสู่ปีที่ 90 ในปี พ.ศ. 2567 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทบาทด้านการศึกษา การสร้างคน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน รวมถึงการที่คณาจารย์ นักวิจัยของคณะฯ ได้แสดงศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ และผลงานต่อสาธารณชน พร้อมทั้งความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานเครือข่ายด้านวิชาการระดับนานาชาติ โดยงานในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม คือ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และนักเรียนจากในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 200 คน

     รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่างานสัมมนา ISNSC-12 และ TBioS-3 มีความสำคัญพิเศษเนื่องจากเป็นเวทีที่โดดเด่นในการนำเสนอความก้าวหน้าทาง Nano & Supramolecular Chemistry และการสำรวจในด้าน Biorefinery ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด สร้างแรงบันดาลใจและความร่วมมือระหว่างกัน โดยการนำเสนอและการร่วมมือของทุกฝ่ายนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Nano & Supramolecular Chemistry และขอบเขตของการสำรวจทาง Biorefinery เพื่อเป็นการนำเสนอโซลูชันทางเคมีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     Prof. Dr. Yang Kim จาก Kumamoto University ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งาน ISNSC-2023 ได้กลายเป็นเวทีที่ชัดเจนในการวิจัยนวัตกรรมและการร่วมมือในการผนึกกำลังของมนุษยชาติ ซึ่งเปิดให้เรามองหาโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างมิตรภาพ และสร้างเครือข่าย ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ถูกเชิญให้มาแบ่งปันความรู้และวิสัยทัศน์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย

     ด้าน รศ.ดร.ชนาธิป สามารถ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย 1 ใน 5 ที่มีการศึกษาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย และส่งเสริมกิจกรรมทางการวิจัยหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการจัดงานสัมมนานานาชาติให้เกิดเครือข่ายการวิจัยระหว่างนักวิจัยไทยและนักวิจัยต่างชาติ งานสัมมนานี้จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สำคัญในการนำเสนองานวิจัย

     และ รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 220 คน มาจาก 22 ประเทศ ได้แก่ประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ชิลี จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศลาว พม่า โปรตุเกส โปแลนด์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะเรียนรู้จากนักวิจัยที่มีชื่อเสียง เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศในงานวิจัย

     “เราต้องระลึกว่าการค้นหาความรู้ร่วมกันและการร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถเปิดเผยศักยภาพอันใหญ่ในด้าน Nano & Supramolecular Chemistry และการใช้พลังงานที่เกิดจากชีวภาพได้” รศ.ดร.กิตติพงศ์ กล่าว

     งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ISNSC-12 และ TBioS-3 มีห้องนำเสนอ 14 ห้อง พร้อมทั้งโปสเตอร์กว่า 90 ผลงาน และภายในงานยังมีรางวัล The Best Presentation Award จากวารสารสำนักพิมพ์ Springer มอบให้กับผู้นำเสนองานที่โดดเด่นที่สุดอีกด้วย โดยผลงานจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย

   1. ชื่อเรื่อง Study of Sacha Inchi Seed Husk for Depolymerization of Valuable Chemicals with Py-GCMS

โดย ภัทรียา พันธ์เพียร

อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.ดร.ชนาธิป สามารถ

   2. ชื่อเรื่อง Synthesis, Characterization, and Properties of Group 2 Metal Doped Copper

โดย สุทธาสินี สุทธินนท์

อาจารย์ที่ปรึกษา: ดร.นที ศิริสิทธิ์

   3. ชื่อเรื่อง Dye adsorption properties of a novel three-dimensional interpenetrating copper(II) coordination polymer composite with alginate

โดย Sirinan Thanma

อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก และ ผศ.ดร.นันทวัฒน์ วรรณฤทธิ์

   4. ชื่อเรื่อง Fluorescent Carbon Dots Synthesized by Using Bird’s nest for Selective Detection of Iron (III) Ions

โดย Supakorn Boonyuen, Paramsivam Shanmugam, Teeraphat Prachayanipon, Weeraphat Praphasmontien, Pariya Na Nakorn และ Yodchai Tangjaideborisut

อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.ดร.สุภกร บุญยืน

   5. ชื่อเรื่อง Development of Polysaccharide-Based Hybrid Sponges for Dye Removal

โดย Apichaya Jintakan และ Saiwanee Sukthaworn

ที่ปรึกษา: Worapat Inrrasit และที่ปรึกษาร่วม: Thitirat Inprasir

   6. ชื่อเรื่อง Designing Lanthanide-Based Ultramicropore Metal-Organic Frameworks for Highly Efficient High-Pressure CO2 Adsorption

โดย กานต์ธิดา คำมูล นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุ

อาจารย์ที่ปรึกษา: รศ.ดร. กิตติพงศ์ ไชยนอก