Loading...

QUEER ความหลากหลาย ที่ไม่ได้จำกัดแค่ชื่อ

มาทำความรู้จักความเป็น ‘เควียร์’ ตัวตนทางเพศที่ไร้กรอบอย่างเข้าใจ โดย ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2565

     ปัจจุบัน กรอบของคำว่าเพศได้ถูกเปิดออก เส้นกั้นตัวตนทางเพศที่ชัดเจนเริ่มถูกท้าทาย และความเป็นเพศที่ซับซ้อนถูกพบเห็นได้มากขึ้น ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมแสดงออกถึงตัวตนที่มีความหลากหลายอย่างอิสระและไร้ขีดจำกัด ทำให้เกิดคำศัพท์ต่าง ๆ มากมายที่เข้ามาอธิบายและนิยามตัวตนทางเพศ โดยหากเรานึกถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวอักษร LGBTQ+ จะขึ้นมาเป็นอันดับแรก ซึ่งวันนี้เรามาทำความรู้จักกับตัว Q ที่ย่อมาจากคำว่า Queer หรือตัวตนทางเพศที่หลายคนยังไม่เข้าใจและสบสนว่าสรุปแล้วเควียร์คืออะไร?       

     พูดคุยกับ ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจคำว่า ‘เควียร์’ กับบริบทในสังคมไทย 

     นิยามของคำว่า ‘เควียร์’ (Queer) ดร.นรุตม์ อธิบายว่า ถ้าพูดถึงตัวคำศัพท์ ‘เควียร์’ ในพจนานุกรมมีความหมายคือ ‘แปลก’ ซึ่งความแปลกดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายได้หลายมิติ โดยในกลุ่มของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ได้มีการนำคำว่าเควียร์ไปใช้ศึกษาในประเด็นที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ หรือจำกัดแค่กลุ่ม LGBTQ+  เท่านั้น แต่สำหรับเควียร์ ในกรอบเรื่องเพศนั้น เราอาจเริ่มมองจากชุดความคิดในสังคม ที่เราถูกสอนมาว่าการเป็นชายจริงหญิงแท้ หรือคนที่รักต่างเพศ คนที่มีเพศกำเนิดกับตัวตนทางเพศตรงกัน ถือว่าเป็นคนที่ปกติ ส่วนอะไรที่ไม่ได้อยู่ในกรอบนี้ จะถูกตีความว่าเป็นความแปลกประหลาด นั่นก็คือเควียร์ แต่โดยทั่วไป แต่ละคนจะตีความคำว่าเควียร์ไม่เหมือนกัน บางคนก็พยายามจะนิยามหรือกำหนดว่า คนที่เป็นเควียร์จะต้องหน้าตาแบบไหน แต่งตัวอย่างไร แต่โดยภาพรวมแล้ว เควียร์นั้นเป็นรูปแบบอัตลักษณ์ที่อาจจะนิยามยาก นิยามไม่ได้ และค่อนข้างเบลอ   

     “ส่วนตัวจะใช้เควียร์เพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นว่า จริง ๆ แล้วการที่เราถูกสังคมกีดกันและทำให้แปลกแยก มันนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง แต่บางคนก็ใช้ความเป็นเควียร์ในการกบฏ ในการแหกกฎเหมือนกัน ซึ่งเราจะเห็นในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ อย่างใน pride parade จะเห็นว่า หลายคนใช้การแต่งตัวที่หลุดโลก แปลกไปเลย เพราะเป็นยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนมองเห็นถึงการมีอยู่การมีตัวตน ในที่นี้ความเป็นเควียร์เลยเป็น ความแปลกประหลาด ความกบฏ ความออกจากกรอบ” ดร.นรุตม์ กล่าว      

     เควียร์จึงเหมือนเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ขึ้นอยู่กับว่าใครตีความอย่างไร แล้วนำไปใช้ทำอะไร ซึ่งมันสามารถที่จะเป็นคำเรียกแทนตัวตนก็ได้ เป็นแนวคิดเพื่อใช้ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ก็ได้ หรืออาจจะเป็นแนวคิดเบื้องหลังของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิก็ได้เหมือนกัน

     ในบริบทสังคมไทย เรามีภาษาหรือศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ถูกมองว่า ‘แปลก’ คือคำว่า ‘เพศที่สาม’ ซึ่งเป็นคำที่เราคุ้นเคยและนิยมใช้มากกว่าคำว่าเควียร์ แล้วคำนี้มันมีนัยยะความเป็นเควียร์ยังไง  ดร.นรุตม์ เล่าว่า การที่เราเป็นเพศที่สามมันเหมือนกับว่า หนึ่งกับสองคือสิ่งที่เป็นปกติ ดังนั้นอะไรที่มันอยู่ในหนึ่ง อยู่ในสองไม่ได้ แล้วกลายเป็นสาม จะถูกมองว่าแปลกแยกแตกต่างออกไป และถึงแม้ในบริบทสังคมไทยที่เรามีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศที่สาม กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการมองเห็นว่ามีอยู่ในสังคม แต่อาจจะถูกมองเห็นด้วยภาพที่ค่อนข้างจำกัด โดยในทุกวันนี้ก็ยังคงมีภาพที่เกิดจากการเหมารวมอย่างมีอคติต่อเพศที่สาม เช่น กลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็นเพศที่สาม จะต้องเป็นคนตลก จะต้องปากร้าย หรือจะต้องแต่งตัวแปลกๆ เพราะฉะนั้นต่อให้ไม่ใช้คำว่าเควียร์ กลุ่มเพศที่สามก็ถูกมองว่าแปลกแยกอยู่แล้วในสังคมไทย

     ดร.นรุตม์ พูดถึง การต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยว่า ด้วยวัฒนธรรมของไทยที่ค่อนข้างประนีประนอม กล่าวคือไม่ได้ยอมรับ แต่ประนีประนอมให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาแชร์พื้นที่อย่างจำกัดในสังคมได้อยู่บ้าง มันจึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ถูกมองเห็นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมมองเห็นอย่างเข้าใจ เช่นการต่อสู้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การมีตัวตนทางเพศที่แตกต่าง ไม่ได้หมายความว่าเป็นความด้อยกว่า หรือพวกเขาทำไม่ได้ ซึ่งการที่เขาไม่ได้รับสิทธิ มันเกิดจากสังคมไม่ได้ให้โอกาส หรือสังคมพยายามจำกัดหน้าที่ว่า พวกเขาทำอะไรได้ หรือทำอะไรไม่ได้ 

     ความขัดแย้งของชุดความคิดในการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศของผู้คนในสังคม ดร.นรุตม์ เผยว่ามาจากช่องว่างทางความรู้เรื่องเพศ ที่สังคมไทยยัง คือ ขาดพื้นที่การสื่อสาร และเมื่อเรามีพื้นที่สื่อสารเรื่องเพศน้อย โอกาสที่คนในสังคมจะมีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งถ้าเรามีพื้นที่ในการสื่อสารมากขึ้นก็จะทำให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างหลากหลายของตัวตนทางเพศว่าไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกหรือแปลกประหลาด จะทำให้เรามองกันและกันเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันมากขึ้น

     ดร.นรุตม์ ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนมองเห็นก็คือ การมีตัวตนทางเพศที่ชัดเจนมันดี มันมีคำอธิบายได้ว่าคนนี้เป็นเกย์ คนนี้เป็นเลสเบี้ยน คนนี้เป็น non-binary แต่ไม่อยากให้เรายึดติดแค่ชื่อ เพราะสุดท้ายแล้วในอนาคตเชื่อว่าคำศัพท์ที่ใช้ในการเรียกเพศ มันจะไม่ได้หยุดแค่นี้ มันจะมีไปอีกเรื่อย ๆ ไม่ว่ามันจะมีอีกกี่คำ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ามันจะมีอีกกี่เพศ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราเข้าใจความหลากหลายหรือยัง แล้วคนที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายนั้นเอง พยายามสื่อสารให้คนเข้าใจตัวตนของเขาอย่างไรบ้าง    

     “คือมันไม่ใช่แค่การมานั่งแข่งกันว่าชื่อใครเก๋กว่าของใคร สุดท้ายแล้วการมีคำเรียกใหม่ ๆ การมีแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ มันคือการมีข้อมูล การมีความรู้ เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ” ดร.นรุตม์ ทิ้งท้าย