Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดงาน “รำลึก 75 ปี วันสันติภาพไทย และ “รำลึก 120 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานครบรอบ 75 ปี วันสันติภาพไทย หวังให้ผู้คนร่วมสมัยเห็นความสำคัญของการประกาศสันติภาพไทย

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2563

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จัดงาน “ครบรอบ 75 ปี วันสันติภาพไทย” และ “รำลึก 120 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์” ขึ้น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการฯ ที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถธำรงไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตย รอดพ้นจากการเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธี

          พลเอกสุรยุทธ์ เปิดเผยว่า นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ออกประกาศสันติภาพให้การประกาศเข้าร่วมสงครามของประเทศไทยเป็นโมฆะ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติการรับใช้ชาติของขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยไม่ถูกยึดครอง และดำรงความเป็นเอกราชได้จนถึงทุกวันนี้

          พลเอกสุรยุทธ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ย่างเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 และสิ้นสุดลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 นั้น นายปรีดีในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศูนย์กลางบัญชาการลับ ติดต่อประสานงานกับสัมพันธมิตร เสรีไทยในประเทศและต่างประเทศ จึงกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนสำคัญพิทักษ์ปกป้องรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติอย่างกล้าหาญ

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำว่าสันติภาพไม่ได้หมายถึงเพียงช่วงเวลาที่ปลอดสงครามเท่านั้น หากแต่หมายถึงสภาพที่คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุขด้วยเช่นกัน ในสังคมประชาธิปไตยที่ถือความหลากหลายเป็นความงาม ถือความแตกต่างว่าทำให้เกิดการเติบโตและพัฒนาก้าวหน้า เราต้องเกื้อหนุนให้สันติภาพถือกำเนิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกชนและระดับสังคมโดยส่วนรวม ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมีวุฒิภาวะและมีวิจารณญาณ จนถักทอกลายเป็นปัญญาร่วมรวมหมู่ของสังคม

          “แต่สันติภาพก็ไม่ใช่ของฟรีที่จะได้มาง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ต้องแลกมา แปลว่าทุกคนต้องยอมที่จะยกความสงบสุขของสังคมโดยรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน ต้องยอมอดทนอดกลั้นและเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจมีหลักปฏิบัติอยู่ 2 ข้อ ที่ทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ ก็คือการมุ่งกระทำในสิ่งที่คาดหวังให้ผู้อื่นกระทำตอบต่อตนเอง ขณะเดียวกันก็ละเว้นการกระทำในสิ่งที่ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำตอบ” รศ.เกศินี กล่าว

          รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า เหนือสิ่งอื่นใด สันติภาพเกิดขึ้นเมื่อเราทุกคนมีใจเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข อดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง ให้อภัยต่อกันเพื่อให้สังคมเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งในโอกาส 75 ปีวันสันติภาพไทย อยากให้ทุกคนตั้งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความต่าง ยึดหลักมนุษยธรรมและขันติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อหมู่ชนในรุ่นเรา หรือบรรพบุรุษในรุ่นก่อน หากยังผนวกควบรวมถึงอนุชนรุ่นหลังจากนี้ ที่จะถือกำเนิดเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ความหมายของคำว่าชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

          ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2535 ได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่นายปรีดีออกประกาศสันติภาพเป็น “วันสันติภาพไทย” และที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กำหนดให้วาระดังกล่าวเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย

          “การจัดงานในวันนี้ เพื่อให้ผู้คนร่วมสมัยเห็นความสำคัญของการประกาศสันติภาพไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในสมัยนั้น ได้รับการสืบสานสู่อนุชนสืบต่อไป” รศ.เกศินี กล่าว

          สำหรับกิจกรรมงาน “ครบรอบ 75 ปี วันสันติภาพไทย” และ “รำลึก 120 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์” ประกอบด้วยพิธี “วางช่อดอกไม้” รำลึกถึงเสรีไทย และผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับเกียรติจาก Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มาแสดงปาฐกถาเรื่อง “China’s Perspective on the Free Thai Movement and World Peace” และ ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เอกราชและการประกาศสันติภาพ” พร้อมด้วยเวทีเสวนาวิชาการ “เศรษฐกิจแปรผัน สันติภาพแปรเปลี่ยน : จากขบวนการเสรีไทยสู่ยุคปัจจุบัน”