Loading...

พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ปีที่ 2 เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย ชวนคนไทยรักษ์แม่น้ำ

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา ปีที่ 2 เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย 10 วัน 10 จังหวัด สร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าของแม่น้ำ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับองค์กรภาคี จัดโครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย ปีที่ 2 10 วัน 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 ตุลาคม 2562 เพื่อรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้การใช้พลาสติก

         ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” จะทำการพายเรือเก็บขยะผ่านพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 10 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 350 กิโลเมตร โดยนักพายเรือมืออาชีพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงอาจารย์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชนที่สนใจ สำหรับขยะที่เก็บได้ในแต่ละพื้นที่ มีการนำขึ้นบกเพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยมีจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ที่ผ่านการอบรมเรื่องการคัดแยกขยะกว่า 400 คน มาร่วมให้ความรู้แก่ประชาชน

          โดยในปีนี้ สามารถเก็บขยะได้เป็นจำนวน 3,215 กิโลกรัม และยังพบว่าในจำนวนขยะทั้งหมดที่เก็บได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา มีขยะพิษจำพวกกระป๋องสี สารเคมี กระป๋องยาฆ่าแมลง รวมกว่า 100 กิโลกรัม และจุดที่พบขยะมากที่สุดคือ บริเวณริมตลิ่ง บริเวณวัด และชุมชนริมน้ำ ได้แก่ กล่องโฟม วัสดุบรรจุอาหาร ขวดเครื่องดื่ม ยางรถยนต์ ที่นอนหมดสภาพ และถุงดำขนาดใหญ่บรรจุขยะที่ทิ้งลงสู่แม่น้ำโดยตรง

          “จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำโดยกรมควบคุมมลพิษ ผลการตรวจออกมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะสภาพน้ำมีคุณภาพแย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยพบว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีจังหวัดใดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หรือมีค่าปริมาณออกซิเจนละลาย หรือค่า DO สูงกว่า 6 มิลลิกรัม/ลิตร มีพบอยู่ในระดับที่แค่พอใช้เท่านั้น โดยจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยามีคุณภาพน้ำเน่าเสียที่สุดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร มีค่า DO เพียง 1.7 มิลลิกรัม/ลิตร ถือว่าจัดอยู่ในระดับคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก เหมาะแก่การคมนาคมเท่านั้น” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

          เป้าหมายใหญ่ของการรณรงค์พายเรือเก็บขยะ ไม่เพียงลดขยะในแม่น้ำลำคลอง แต่ต้องการให้ขยะเป็นศูนย์ ผ่านการลดการใช้ เลิกทิ้งขยะ สร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลอง ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลและเป็นภัยต่อสัตว์น้ำอีกต่อไป

ขอบคุณภาพจาก

Page: โฆสิต จิตต์ไพโรจน์

Page: Prinya Thaewanarumitkul

Page: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม