Loading...

“ธรรมศาสตร์” จับมือ “มหาวิทยาลัยฮอกไกโด” ร่วมศึกษาวิจัยหยุดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

 

ในโอกาสครบ 85 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถาเกียรติยศหยุดยั้งวิกฤตเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถาเกียรติยศหยุดยั้งวิกฤตเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในโอกาสครบ 85 ปี พร้อมลงนาม MOU ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสาธารณสุข ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยผลการทดลองวัคซีนช่วยป้องกันอย่างได้ผล แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยง เด็ก สตรีมีครรภ์ค์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ควรฉีดทุกปีเพราะไวรัสเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถาเกียรติยศในโอกาสครบรอบ 85 ปี โดย ศ.ดร.นายสัตวแพทย์ ฮิโรชิ คิดะ ผู้อำนวยการ Hokkaido University Research Center for Zoonosis Control และสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2559 ในเรื่อง “ความพร้อมในการรับมือ การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่?” และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขร่วมกัน เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความร่วมมือทางการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์กับมหาวิทยาลัยฮอกไกโดมายาวนานกว่า 4 ปีแล้ว โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ระหว่างบุคลากร รวมถึงการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบการระบาดต่อเนื่องทุกปี

          ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมขยายผลความร่วมมือด้านการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักศึกษาระดับปริญญาเอกให้เกิดบุคลากรรุ่นใหม่ด้านสาธารณสุขที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

          ศ.ดร.นายสัตวแพทย์ ฮิโรชิ คิดะ กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ “ความพร้อมในการรับมือกับการบาดระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่?” ว่า เชื้อ H5N1 เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่นกสายพันธุ์รุนแรงที่ระบาดมาจากสัตว์ปีกและติดต่อมายังคน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่ปี 2540 และแพร่สู่ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ กระทั่งมีการเกิดไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 อุบัติขึ้นมา การพัฒนาสายพันธุ์เป็น H7N9 โดยพบการติดเชื้อจากสัตว์ปีกสู่คนปรากฏขึ้นครั้งแรกในจีน ติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ปีกปรากฏขึ้นครั้งแรกในจีน

          ไวรัสไข้หวัดนกทั้งสอง 2 ตัวสายพันธุ์นี้สร้างความกังวลให้วงการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น มีโอกาสที่ไวรัสจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ส่งผลให้มีความสามารถติดเชื้อและแพร่กระจายในมนุษย์มากขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป แต่มีโอกาสฟักตัวและเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการในเรื่องของวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมต่อการถ้าไม่ป้องกันและควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ การแพร่ระบาดก็จะกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้น จึงต้องรวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกให้เกิดประสิทธิภาพและไม่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด

          มหาวิทยาลัยฮอกไกโด มีการเก็บคลังข้อมูลของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นกกว่า 4,000 สายพันธุ์ จาก 144 สับไทป์ของไวรัส (ฮีแมกกลูตินิน 16 สับไทป์ และนิวรามินิเดส 9 สับไทป์) เพื่อใช้เป็นวัคซีนรองรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้ การทดลองการผลิตวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัส H1N1, H5N1, H6N2, H7N7, H7N9 และ H9N2 สามารถสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองเมื่อถูกทำให้ติดเชื้อด้วยไวรัสได้ ในเชื้อไวรัส H1N1, H5N1, H6N2, H7N7, H7N9 และ H9N2 ผลออกมาค่อนข้างดี สามารถยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนได้

          “สถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นให้ความสำคัญและร่วมมือกันอย่างดีในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการขยายผลความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการศึกษาวิจัย ป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชนได้มากขึ้น” ศ.ดร.นายสัตวแพทย์ ฮิโรชิ คิดะ กล่าว

          ด้าน ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสเป็นซ้ำได้ ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จะเป็นอันตรายกับลูกในท้อง เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น

          “ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการป้องกันของประชาชนช่วงเวลาต่าง ๆ นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาวัคซีนให้สอดรับกับสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การยับยั้งแพร่ระบาดจึงต้องขึ้นกับประชาชนด้วย หมั่นดูแลรักษาสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันและเมื่อป่วยแล้วก็ควรจะรักษาดูอาการอยู่ที่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายแพร่กระจายต่อไป” ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย