Loading...

นักศึกษา BBA ธรรมศาสตร์ กวาด 3 รางวัลใหญ่ เวที L’Oreal Brandstorm 2020 ประเทศไทย

 

นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ กวาดทุกรางวัลจากการแข่งขัน L’Oreal Brandstorm 2020 ประเทศไทย พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งชิงแชมป์ระดับโลก

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2563

          คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างชื่อเสียงอีกครั้งกับการนำเสนอ    กลยุทธ์การตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยนักศึกษาจากโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากคอนเซ็ปต์ “การ์นิเย่ ไมเซล่า คลีนซิ่ง คิวบ์” ตอบโจทย์ Build a Plastic-Less Future in the Beauty Industry หรือการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมความงามเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งอนาคต ในการแข่งขัน L’Oreal Brandstorm 2020 ครั้งที่ 17  ประเทศไทย จัดโดย L’Oreal Thailand และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันรอบชิงแชมป์ระดับโลก “L’Oreal Brandstorm 2020” กับอีก 65 ประเทศทั่วโลก เพื่อชิงรางวัลประสบการณ์การทำงานที่ Station F ฮับสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นระยะเวลา 3 เดือน พร้อมโอกาสในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ระดับโลกอย่าง One Young World Summit ณ ประเทศเยอรมนี และในปีนี้ ทีมนักศึกษา BBA อีก 2 ทีม ยังกวาดรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มาด้วย

รางวัลชนะเลิศ ทีม ALL in This toCAGR ประกอบด้วย นางสาวธนาภรณ์ สุขจิตต์นิตยกาล สาขาวิชาเอกการเงิน นางสาวสุดามาศ เก่งรุ่งเรืองชัย สาขาวิชาเอกการเงิน และนางสาวปทิตตา ตันชูเกียรติ สาขาวิชาเอกการเงิน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม The T(h)ree Hugger ประกอบด้วย นางสาวณิชารีย์ ตรีสิริเกษม สาขาวิชาการการตลาด นางสาวขวัญจิรา แจ้งตามธรรมสาขาวิชาการตลาด นายทัตธน ธนาบริบูรณ์ สาขาวิชาการเงิน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีม Tricologist ประกอบด้วย นางสาวคัคนางค์ จันทรัช สาขาวิชาการเงิน นางสาวชลพิชชา สืบทรัพย์อนันต์ สาขาวิชาการเงิน นายณัฐชนน เปล่งสุรีย์ สาขาวิชาการตลาด

          นางสาวปทิตตา ตันชูเกียรติ ตัวแทนจากทีม ALL in This toCAGR แชมป์ L’Oreal Brandstorm 2020 เล่าว่าเริ่มรู้จักการแข่งขัน L’Oreal Brandstorm ตั้งแต่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 แต่เลือกที่จะเข้าร่วมในการแข่งครั้งในปีนี้ เพราะเล็งเห็นว่าหัวข้อปีนี้เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุดซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เข้ากับสถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งการเตรียมตัวก่อนแข่งขัน พวกเราได้หาข้อมูลและทำ research เยอะมากเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการลดการใช้พลาสติก เพื่อที่จะได้สร้างสินค้าที่ตอบโจทย์มากที่สุด

          ทีมเราได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ชื่อว่า Micellar Cube - ไมเซล่า คิวบ์” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องสำอางไมเซล่าแบบอัดก้อน โดยออกแบบผลิตภัณฑ์นี้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและตอบโจทย์คนรักสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น เพราะไมเซล่า คิวบ์มีราคาที่ถูกลง น้ำหนักเบา และไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก อีกทั้งยังได้รักษ์โลกไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย และเมื่อเราได้ศึกษาการทำการตลาด สิ่งที่ท้าทายสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ คือการทำอย่างไรให้คนหันมาใช้ เราจึงได้ออกแบบแอปพลิเคชัน ขึ้นมาเพื่อเป็นการต่อยอดและให้ลูกค้าได้ติดตามผลิตภัณฑ์เราอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังออกแบบการเก็บสะสมแต้มในรูปแบบของเกมเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าให้ดาวน์โหลด และอยากเปิดแอปพลิเคชันของเราอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

          นอกจากทีม ALL in This toCAGR ที่สามารถคว้าแชมป์ของเวทีประเทศไทยมาได้แล้ว ในปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังท็อปฟอร์มคว้ามาอีก 2 รางวัล คือรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มาครองด้วย

          นายทัตธน ธนาบริบูรณ์ ตัวแทนจากทีม The T(h)ree Hugger (รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1) เล่าถึงกลยุทธ์การตลาดว่า เราได้นำเสนอวิธีการใช้ซ้ำ (Reuse) โดยให้ลูกค้านำขวดผลิตภัณฑ์เดิมมาเติมที่จุดขาย อย่างไรก็ตาม การเติมผลิตภัณฑ์ Skincare ด้วยขวดที่เคยใช้แล้ว คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์​ส่วนมากมักเป็นเนื้อครีม (Cream) จะล้างทำความสะอาดออกจากกระปุกได้ยาก หากล้างไม่สะอาดจะเกิดการปนเปื้อนได้ ดังนั้นเราจึงได้เสนอ Solution เพื่อแก้ Pain Point นี้ โดยการเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ Skincare ที่เป็นของเหลวมาบรรจุอยู่ในรูปแบบของเม็ดแคปซูล โดยเปลือกของแคปซูลจะเป็นฟิล์มบาง ๆ ที่สามารถละลายน้ำได้ เมื่อลูกค้าบีบผลิตภัณฑ์จากแคปซูลมาใช้แล้ว ก็สามารถทิ้งเปลือกแคปซูลได้ด้วยการล้างมือ โดยเปลือกจะละลายลงท่อไปกับน้ำ ด้วยนวัตกรรมนี้ ลูกค้าสามารถทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย และมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์​ใหม่ที่เติมจะไม่ถูกปนเปื้อน

          ส่วนทีม Tricologist ได้นำเสนอนวัตกรรมแบบรีฟิล (Refill) เช่นกัน โดย นางสาวคัคนางค์ จันทรัช ตัวแทนของทีม Tricologist (รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2) เผยว่า ได้นำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบรีฟิล ที่ชื่อว่า Fill Me Up” ลูกค้าสามารถเข้าถึงการรีฟิล ทุกที่ ทุกเวลา โดยมั่นใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์จะไม่สร้างผลเสียใดใด จุดเด่นคือผู้ใช้สามารถซื้อถุงรีฟิลตามร้านค้าทั่วไป และเปลี่ยนถุงรีฟิลได้ ส่วนแผนการตลาด ทางทีมได้เสนอว่าสร้าง awareness โดยทำการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อแสดงถึงความทันสมัย รักษ์โลก และสะดวกในการใช้ ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าตัวพวกเขาเองสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพียงแค่เปลี่ยนการใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างกำลังใจในการรีไซเคิล (Recycle)

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก L’Oreal Brandstorm 2020 ประเทศไทย