Loading...

เวทีนักวิชาการ 4 สถาบันแนะเร่งคุมมลพิษ หนุน “เทคโนโลยี-พลังงานสะอาด” แก้จราจรเมืองใหญ่

 

การประชุมวิชาการประเพณี 4 สถาบัน ครั้งที่ 21 เรื่อง มลพิษทางอากาศ : วิกฤตไทย วิกฤตโลก (Air Pollution: Thailand and World Crisis)

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมวิชาการประเพณี 4 สถาบัน ครั้งที่ 21 เรื่อง มลพิษทางอากาศ : วิกฤตไทย วิกฤตโลก (Air Pollution: Thailand and World Crisis) โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และพลเรือโทบัณทิตย์ จันทโรจวงศ์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ร่วมเปิดการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมนานาชาติ (Global Citizen Hall) อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

          นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศของไทยว่า เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และส่งกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ทำให้เกิดความเสี่ยงใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งสถิติผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2562 มีความใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2561

          อย่างไรก็ดี จากมาตรการและความร่วมมือต่าง ๆ ทำให้ค่าเฉลี่ยมลพิษลดลงทุกปี จนอยู่ระดับใกล้เคียงกับมาตรฐานของประเทศไทยที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 สภาพอากาศเลวร้ายสูงเกินมาตรฐาน ภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่เอื้อต่อการกระจายตัว ส่งผลให้ฝุ่นสะสมในบรรยากาศ รวมทั้งกิจกรรมมนุษย์ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิง จราจร เครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรมและการเผาในที่โล่ง

          ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินมาตรการ อาทิ จัดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จัดทำข้อมูลมลพิษทางอากาศแบบเรียลไทม์ ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ www.air4thai.pcd.go.th และแอปพลิเคชัน air4thai เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และวางแผนในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนั้น ยังมีแผนแม่บทจัดการคุณภาพอากาศของประเทศ 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561- 2580 และการออกมาตรการป้องกันลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง บังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และมาตรฐานยูโร 5 ภายในปี พ.ศ. 2564 เป็นต้น โดยได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป

          ด้าน ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ฝุ่นละอองในอากาศมีหลายประเภทแต่มุ่งเน้นในส่วนของ PM 2.5 ที่มีขนาดเล็ก ผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจสร้างความเสียหายต่ออวัยวะและก่อเกิดโรคมะเร็ง สาเหตุหลักจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ไม่เพียงในประเทศเท่านั้น ทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน อาทิ จีน มองโกเลีย ปักกิ่ง ลอนดอน ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากสภาพอากาศในช่วงต้นปี สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ต้องลดการปล่อยมลภาวะตั้งแต่ต้นทาง ควบคุมใช้น้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำ จำกัดเวลาการสัญจรของพาหนะในเมืองโดยเฉพาะรถบรรทุกที่ถือเป็นยานพาหนะหลักที่ปล่อยมลพิษ ให้คนทำงานที่บ้านโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยในการทำงาน เป็นต้น

          รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงมูลค่าความเสียหายจากมลพิษทางอากาศว่า งานวิจัยใช้แนวคิด Subjective Well-Being ความพึงพอใจในชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อาทิ รายได้ สิ่งแวดล้อม ประเมินค่าความเต็มใจของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ที่จะจ่ายเพื่อลดค่า PM10 ไม่ให้เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีมูลค่าทั้งสิ้น 556,327 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี พ.ศ. 2560 ที่ได้มีการประเมินความเสียหายไว้อยู่ที่ 110,304 ล้านบาท หากพิจารณากรณีทุกครัวเรือนทั่วประเทศได้รับผลกระทบ จะมีมูลค่าสูงถึง 2.06 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.64% ของ GDP หรือกรณีที่ได้รับผลกระทบ 50% มูลค่าจะอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.32% ของ GDP โดยข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ สามารถใช้เป็นแนวทางวางนโยบาย จัดงบประมาณเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

           “การแก้ปัญหาโดยใช้กลไกทางเศรษฐกิจ ควบคุมพฤติกรรม บังคับและสร้างแรงจูงใจทางตรงและทางอ้อม อาทิ ราคา ปริมาณ เทคโนโลยี สร้างความตระหนักรับรู้ถึงอันตราย เพิ่มจุดตรวจวัด ส่งเสริมงานวิจัย ลดมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เคร่งครัดตรวจวัดควันดำ”

          ด้าน ผศ.ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพียงประเทศไทย แต่หลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ได้จัดการปัญหาหลายแนวทาง อาทิ การจัดการจราจรในเขตเมือง ขึ้นทะเบียนรถที่ปล่อยมลพิษน้อย กำหนดจำนวนผู้โดยสาร จัดบริการจอดรถฟรีในพื้นที่รอบนอก เป็นต้น

          พลเรือตรี ดร.สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ กล่าวว่า ภารกิจหลักของกองทัพเรือนอกจากรักษาความมั่นคงของชาติทางทะเล บรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชน ยังมีหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งเสริมผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และรณรงค์ให้มีการใช้มากขึ้นตั้งแต่บี 10 บี 20 และบี 100 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยขณะนี้กองทัพเรือนำเอาไบโอดีเซลบี 100 มาใช้ในพาหนะทั้งบกและเรือมากขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ

          ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ เพราะฉะนั้น การแก้ไขจะไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมเข้าไปแก้ไขและจัดการกับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่และมีสภาพแวดล้อมที่ดี